Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








จานชานอ้อยเพื่อสุขภาพ ไร้สารก่อมะเร็ง "ลดโลกร้อน"

16 มิ.ย. 2551

            หนุ่มสาวยุคนี้สะพายถุงผ้าแทนกระเป๋าแฟชั่นราคาแพงเพราะต้องการมีส่วนร่วม "ลดโลกร้อน" นอกจากถุงผ้าแล้ว บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ควรมองข้ามคือ จานชามจากชานอ้อย ชูคุณสมบัติย่อยสลายใน 45 วัน ใช้กับเตาไมโครเวฟได้โดยไม่มีสารก่อมะเร็ง
 
             จานชามรวมถึงแก้วน้ำและกล่องบรรจุอาหารจากชานอ้อยนี้เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างภาคเอกชน กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถือเป็นที่แห่งแรกในประเทศ ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
 
             นายแพทย์วีรฉัตรกิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด จ.ชัยนาท กล่าวว่า บริษัทจัดตั้งมาแล้ว 2 ปี และอยู่ระหว่างทดลองตลาดในช่วงปีที่ 3 กำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านชิ้นต่อปี ใช้เยื่อชานอ้อย 3,000 ตันต่อปี จากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษวาดเขียน ทิชชูแบบหยาบและผ้าอนามัย
 
             ราคาขายของบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยจะแพงกว่ากล่องโฟมบรรจุอาหารแต่ก็ถูกกว่าพลาสติกประมาณ 20% และเมื่อเทียบคุณสมบัติแล้วบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100%
 
             บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยสามารถทนร้อนจัดและเย็นจัดที่อุณหภูมิ -40 ถึง 250 องศาเซลเซียสจึงนำเข้าช่องแช่แข็งและอบในเตาอบหรือไมโครเวฟได้ ทั้งยังทนน้ำร้อน และน้ำมันขณะตั้งไว้ภายนอกได้ 150 องศาเซลเซียส โดยไม่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง ต่างจากกล่องโฟมบรรจุอาหาร ที่จะหลอมละลายเมื่อได้รับความร้อนและไขมัน
 
             ด้านการย่อยสลายทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ทดสอบแล้วระบุว่าสามารถย่อยสลายหมดเกลี้ยงใน 45 วัน หลังจากฝังกลบในดิน และย่อยสลายได้เร็วขึ้นภายใน 31 วัน หากฝังกลบพร้อมกับเศษอาหารที่เหลือติดอยู่ เนื่องจากแบคทีเรียในอาหาร กอปรกับความร้อนและความชื้นในดิน ช่วยเพิ่มคุณสมบัติการย่อยได้ดีขึ้น
 
             บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยสามารถขึ้นรูปได้ตามที่ต้องการเก็บได้นาน 10 ปี ผลิตภัณฑ์มีสีน้ำตาลอ่อนตามสีชานอ้อยธรรมชาติ เพราะการผลิตไม่ใช้สารคลอรีนในการฟอกสี ปัจจุบันบริษัทผลิตเป็น จาน ชาม ถาด ถ้วยขนาดต่างๆ กว่า 26 แบบ ซึ่งกว่า 80% ส่งออกต่างประเทศ โดยตลาดหลักคือ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
 
             ขณะที่ประเทศไทยบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมนี้นำร่องใช้ในมหาวิทยาลัยตางๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในอนาคตจะส่งเสริมให้ใช้ในโรงเรียนด้วย

( )