Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ประวัติหน่วยงาน

         เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้มีเจ้าหน้าที่ของสหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จัดตั้งโดยสมาคมผู้บริโภคของประเทศต่างๆ รวมตัวกันโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เข้ามาชักชวนองค์การเอกชนในประเทศไทยให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้บริโภคขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากองค์การเอกชนของประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่พร้อมที่จะดำเนินงาน

         อย่างไรก็ตาม สหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศก็มิได้ย่อท้อ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชักชวนอีกหลายครั้ง จนถึงครั้งที่ ๓ องค์การเอกชนของประเทศไทยจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปัญหาของผู้บริโภค ชื่อ "คณะกรรมการศึกษาและส่งเสริมผู้บริโภค" ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาในภาคเอกชน รวมทั้งได้ประสานงานกับภาครัฐบาล จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ รัฐบาลสมัยหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นประธานกรรมการ ต่อมาได้สลายตัวไปพร้อมกับรัฐบาลในยุคนั้นตามวิถีทางการเมือง

         รัฐบาลสมัยต่อมาซึ่งมี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายสมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธานกรรมการปฏิบัติงาน โดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีและศึกษาหามาตรการถาวรในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในหลักทางสาระบัญญัติ และการจัดองค์กรของรัฐเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจการค้า และผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา เพื่อให้ความเป็นธรรมตามสมควรแก่ผู้บริโภค ตลอดจนให้มีองค์กรของรัฐที่เหมาะสมเพื่อตรวจตรา ดูแล และประสานงาน การปฏิบัติงานต่าง ๆ ในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค และรัฐบาลได้นำเสนอต่อรัฐสภาซึ่งมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ตราเป็นกฎหมายได้ รัฐบาลจึงได้นำร่างดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูล ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเห็นชอบให้ตราเป็นพระราชบัญญัติได้ ตั้งแต่วันที่ทรงลงพระปรมาภิไธย คือ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า ๒๐ เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๗๒ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นไป

         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้บัญญัติให้มีองค์กรของรัฐเพื่อทำหน้าที่ด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้แก่ประชาชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดอยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๐๕ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒ ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒ จึงถือได้ว่าจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒ เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการ ๓ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล และคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ๒ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา และคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยเพิ่มคณะกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้นมาอีก ๑ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา และให้ยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๔๐ ก วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒

          พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยได้กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การกำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการบริการที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค การกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดเก็บหรือเรียกร้องสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และกำหนดให้มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองมีสิทธิในการดำเนินคดีแบบเดียวกับสมาคม

         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบและอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเชื่อมโยงการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายต่าง ๆ ไม่ให้ขัดแย้งกัน ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ด้านความปลอดภัยของสินค้าและบริการ และกระบวนการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้บริโภค และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับค่าปรับจากการเปรียบเทียบในส่วนที่เกิดจากการดำเนินงานของตน ตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษปรับให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม

 






( )