Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ระวัง! กินเค็มจัดเสี่ยงสารพัดโรค

21 ธ.ค. 2549

บริโภคเกลือน้อยกว่า 6 กรัมต่อวันกันไตพังก่อนเวลา
 
             รสเค็มน่าจะเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่หลายคนชื่นชอบ ทั้งที่ต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่าความเค็มที่มากเกินไปเป็นปัญหาต่อสุขภาพ พูดกันถึงบทบาทของเกลือ มันค่อนข้างจะมีฐานะดีกว่าน้ำมันและน้ำตาล เนื่องจากเกลือเข้าไปมีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นอาหาร ส่วนประกอบของยา ใช้ถนอมอาหาร เป็นเครื่องบ่งชี้สถานะทางสังคม เป็นพาหะสำคัญในการส่งถ่ายสารไอโอดีน และยังถูกใช้ในโรงงานที่ทำสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติก อะลูมิเนียม สบู่ และแก้ว คนช่างสังเกตเก็บข้อมูลไว้ว่ามีการประยุกต์ใช้เกลือมากกว่า 14,000 รูปแบบ
 
             ในเรื่องอาหารการกินต้องถือว่าอาหารไทยหลายชนิดมีส่วนผสมของเกลือปริมาณสูง และยังซุกซ่อนอยู่ในอาหารสำเร็จรูปหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นขนมถุง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผักดอง ซอสต่างๆ และถ้าเรารวมโซเดียมซึ่งเป็นส่วนประกอบของเกลือเข้าไปด้วยย่อมต้องถือว่าเกลือยังแอบอยู่ในผงชูรส เนย มาการีน เป็นต้น
 
             นอกจากนี้ ในอาหารธรรมชาติบางอย่างก็มีโซเดียมสูงโดยที่ยังไม่ต้องปรุงรส เช่น อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือในอาหารบางประเภทที่ไม่มีรสเค็มก็ยังมีโซเดียมผสมอยู่ด้วย เช่น มายองเนส หรือนมผงสำหรับทารก นั่นหมายความเวลาเราจะรับประทานอะไรควรต้องระมัดระวังในการปรุงรสพอสมควร มิฉะนั้นอาจสุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมสูงเกิน
 
             ถึงแม้ว่าร่างกายคนเราจะใช้โซเดียมเพื่อการอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การควบคุมความเข้มข้นของของเหลวภายนอกเซลล์ ควบคุมการเต้นของหัวใจ เป็นต้น และใช้คลอไรด์ช่วยในการย่อยอาหาร แต่เอาเข้าจริงๆ ร่างกายของคนเรากลับต้องการโซเดียมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในแต่ละวัน
 
              ความเข้าใจที่รู้กันดี คือการทานเค็มมากๆ จะทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง แต่ไม่ใช่เท่านั้น ยังมีอัมพฤกษ์ โรคหัวใจ อาการบวมและหัวใจวาย ริดสีดวง ไมเกรน และภาวะกระดูกบางอีกที่เป็นผลพวงตามมา ข้อมูลทางการแพทย์ยังพบอีกว่าการทานเกลือให้น้อยลงจะส่งผลให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น
 
              ถามว่าปัจจุบันนี้พฤติกรรมการบริโภคเกลือของคนไทยอยู่ในภาวะที่น่าห่วงแค่ไหน ก่อนอื่นต้องบอกกล่าวก่อนว่าข้อมูลทางโภชนาการของแร่ธาตุโซเดียมที่เป็นส่วนประกอบของเกลือยังไม่สมบูรณ์ บวกกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ จึงทำให้ยังไม่มีรายงานการบริโภคเกลือที่ชัดเจนสำหรับคนไทย
 
              จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเกลือในปี 2548 ของนักศึกษามหาวิทยาลัย 6 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 86 ของผู้ที่ทำการสำรวจนิยมเติมน้ำปลาในอาหารและเติมครั้งละประมาณ 1 ช้อนกินข้าวหรือ 15 มิลลิลิตร
 
              หรือผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคขนมและอาหารว่างในเด็กอายุ 3-15 ปี เมื่อปี 2547 ก็พบว่าขนมที่เด็กกินมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
 
              ทานเกลือแค่ไหนจึงจะไม่ทำร้ายตัวเอง เรื่องนี้ทางนักโภชนาการเขาไม่ได้กำหนดไว้เป็นปริมาณเกลือ แต่กำหนดเป็นปริมาณโซเดียมซึ่งถือเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 40 ของเกลือ
 
              สำหรับ คนไทยที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือก็เท่ากับ 6 กรัม แต่ความเป็นจริงของปริมาณโซเดียมที่คนไทยบริโภคกันตอนนี้กลับสูงถึง 4,500 มิลลิกรัมต่อวัน และยิ่งถ้าเป็นคนชอบทานรสเค็มก็จะสูงถึง 5,800 มิลลิกรัม
             สังคมคงจะต้องใส่อกใส่ใจกับพฤติกรรม การกินที่ไม่เหมาะสมนี้ และเร่งหาทางออกกันเสียแต่เนิ่น เพราะผลของการบริโภคอาหารปลายธง-น้ำมัน น้ำตาล เกลือที่สูงเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกของคนไทยในปัจจุบัน เรื่องแบบนี้เราสามารถป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดการสูญเสีย
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/news.php?id=4952&PHPSESSID=8ff76b68c0d2b8f063edac40bf43fad3
แหล่งที่มา    : สสส.

( )