Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








“อดข้าว” ดอกนะเจ้าชีวาวาย

05 ก.ย. 2549


ไม่เกี่ยวกับเรื่อง "ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา” แต่อย่างใดค่ะ แต่วันนี้จะพูดถึงเรื่อง "อดข้าว”

มีรายงานการวิจัยที่ยืนยันว่า หากร่างกายอดอาหารอย่างต่อเนื่องกลับจะมีผลเสียต่อร่างกายน้อยกว่ากินแบบอดมื้อกินมื้อ ดังนั้นวันนี้จะพูดถึงผลเสียของการอดมื้อกินมื้อ

เหตุผลที่คนเราต้องกินอาหาร 3 มื้อ เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องการพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ (มากน้อยต่างกันในแต่ละคน) ซึ่งคนเราไม่สามารถรับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในมื้อเดียว เพื่อให้ได้พลังงานหรือสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการได้ จึงต้องแบ่งเป็นหลายมื้อ
อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด แต่ก็เป็นมื้อที่หลายๆ คนละเลยมากที่สุดเหมือนกัน ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป ส่วนใหญ่จะอ้างว่าไม่มีเวลา ต้องรีบฝ่าการจราจรเพื่อไปทำงานให้ทัน และอีกจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจอดอาหารเช้าโดยหวังว่าน้ำหนักจะลด

มีข้อมูลยืนยันว่าการอดอาหารเช้าไม่ได้ทำให้พลังงานที่ร่างกายได้รับตลอดทั้งวันลดลงเลย ร่างกายต้องอดอาหารมาแล้วทั้งคืนเป็นเวลาหลายชั่วโมง หากยังไม่ยอมกินอาหารเช้าอีก ร่างกายจะเข้าใจผิดคิดว่ากำลังอยู่ในสภาวะอดอยาก ทีนี้พอกินอะไรก็ตามในมื้อถัดไป ร่างกายจะเก็บเอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแป้ง ไขมัน น้ำตาล ฯลฯ

หลายคนอาจสงสัยว่าระยะเวลาตั้งแต่มื้อเย็นจนถึงมื้อเช้าห่างกันตั้งหลายชั่วโมง ร่างกายยังไม่เป็นไรเลย นั่นเป็นเพราะอาหารมื้อเย็นที่เรากินเข้าไปถูกย่อยและใช้ไปเมื่อเราพักผ่อนนอนหลับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายใช้พลังงานน้อยอยู่แล้ว อาหารมื้อเย็นจึงอยู่ได้หลายชั่วโมงกว่ามื้ออื่น แต่ในช่วงเช้าเป็นช่วงที่ร่างกายใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่า ซึ่งต้องได้รับอาหารมาแปรรูปเป็นพลังงาน
รายงานการศึกษายังระบุว่า หากคนเรากินอาหารสามมื้อจะทำให้พลังงานที่ได้รับตลอดทั้งวันมีปริมาณน้อยกว่าคนที่กินอาหารแค่สองมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่งดมื้อเช้า การกินอาหารเช้าจนเคยชินจะทำให้ท้องอิ่มและไม่กินมากในมื้อกลางวันและมื้อเย็น แต่คนที่อดอาหารเช้าจะกินมื้อต่อไปมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

การกินอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งหรือสองมื้อมากกว่าปกติ จะทำให้ร่างกายสะสมพลังงาน (ในรูปของไขมัน) ได้ง่ายกว่าการกระจายพลังงานไปไว้ในสามมื้อหรือหลายมื้อ ด้วยเหตุนี้เอง คนที่งดอาหารเช้าจึงมักจะไม่ผอมอย่างที่หวัง และอาจจะอ้วนกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดน้ำหนักหลายคนแนะนำให้กินให้ครบทั้งสามมื้อ หรือจะแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ ถึง 6 มื้อก็ยังได้ โดยให้แต่ละมื้อมีปริมาณน้อยลง

นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์ว่า คนที่งดอาหารเช้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างมากกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นปกติ ได้แก่ หัวใจวาย หลอดเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

เมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำ ในขณะที่ร่างกายต้องการพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ หากเรายังไม่เติมพลังงานให้กับร่างกายด้วยการกินอาหารเช้า ร่างกายต้องไปดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในตับ ซึ่งร่างกายเก็บไว้เป็นเสบียงในยามจำเป็นมาใช้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ
แต่ไม่นานพลังงานส่วนนี้จะถูกใช้จนหมดไปเพราะไม่มีพลังงานมาเติม ร่างกายต้องดึงไขมันมาใช้ทดแทน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นผลดี เพราะจะทำให้มีไขมันมาไหลเวียนอยู่ในเลือดบ่อยเกินไป โอกาสที่ไขมันจะหลงไปสะสมไว้ตามผนังหลอดเลือดก็มีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า คนที่งดมื้อเช้าร่างกายจะสร้างสารตัวหนึ่งขึ้นมา สารตัวนี้ทำให้เลือดเป็นลิ่มได้ง่ายขึ้น ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

รายงานการวิจัยยังระบุด้วยว่า การงดอาหารเช้าอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เวียนหัว ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า การกินอาหารเช้ามีผลดีต่อการเรียน ในขณะที่ท้องหิวสมองก็ไม่รับรู้เรื่องที่ครูสอน ไม่มีสมาธิในการเรียน ไม่มีความสามารถในการทำข้อสอบ เช่นเดียวกับคนในวัยทำงาน ก็คงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นกัน

ผลดีของการกินอาหารเช้า จากผลการวิจัยหลายชิ้น พบว่า

- คนที่กินอาหารเช้าจะมีพลังงานในการทำงานได้นานกว่า และมีความอ่อนล้าในช่วงกลางวันน้อยกว่า

- การกินอาหารเช้าช่วยลดปริมาณการกินอาหารว่าง

- ถ้าเราปล่อยให้ร่างกายคอยนานเกินไปกว่าจะได้รับอาหารมื้อแรกของวัน ระบบการย่อยอาหารก็จะเฉื่อยชาในการทำงาน งานวิจัยพบว่าคนที่ไม่กินอาหารเช้ามีอัตราการเผาผลาญอาหารต่ำกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำ

- เด็กที่กินอาหารเช้ามีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ให้ความร่วมมือดีกว่า และมีสมาธิในการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้า

แม้จะพูดถึงแต่ความสำคัญของมื้อเช้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามื้ออื่นไม่สำคัญ เพราะการอดอาหารมื้อใดก็แล้วแต่ นอกจากร่างกายจะได้พลังงานไม่ครบถ้วนแล้ว ยังอาจทำให้ได้สารอาหารไม่ครบ จนนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารได้

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับประทานอาหาร แต่กระบวนการย่อยอาหารยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งหากกรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมาแล้วไม่มีอาหารในกระเพาะ กรดก็อาจกัดกระเพาะ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง ถ้าเป็นมากก็อาจเกิดแผลในกระเพาะ กระเพาะอักเสบ หรือกระเพาะทะลุได้

พึงระลึกไว้ว่าอย่าอดมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่อาจให้ความสำคัญกับปริมาณอาหารในแต่ละมื้อแตกต่างกัน มีคำพูดไว้ว่า ให้กินอาหารเช้าแบบราชา อาหารกลางวันแบบสามัญชน และอาหารเย็นแบบยาจกค่ะ
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000114788
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ