Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








คุณทำอย่างไรเมื่อท้องเสีย/ เอมอร คชเสนี

05 ก.ย. 2549


โดย เอมอร คชเสนี
 
 
ท้องเสีย คืออาการถ่ายอุจจาระบ่อยเกินกว่าวันละ 3 ครั้ง หรืออุจจาระเหลวเป็นน้ำมากกว่าเนื้อ หรืออาจถ่ายเป็นมูกเลือด พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย
  
สาเหตุของท้องเสีย ได้แก่
 
1.การติดเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด
2.การแพ้อาหารบางชนิด เช่น นม เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนม
3.การกระตุ้นมากเกินไป เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไป หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
4.ความผิดปกติของลำไส้
 
อาหารที่ทำให้ท้องเสียส่วนใหญ่ ได้แก่
 
1.อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน หรือจัดเก็บไม่ถูกวิธี มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรค หรือบูดเสียได้ง่าย
2.เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เช่น การปรุงอาหารคราวละมากๆ อาจทำให้สุกไม่ทั่วถึง
3.อาหารที่ถูกเตรียมโดยพ่อครัวแม่ครัวที่สุขอนามัยไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร หรือเป็นคนที่เป็นพาหะของเชื้อโรค เช่น เชื้อไทฟอยด์ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อโรคไปในอาหารได้
4.ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด และจัดเก็บไม่ถูกวิธี
5.อาหารกระป๋องที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากกระบวนการผลิต การจัดเก็บ หรือหมดอายุ
6.อาหารบางชนิดที่ไม่คุ้นเคย เช่น อาหารทะเลบางชนิด เห็ดพิษ เนื้อสัตว์ป่า เป็นต้น
โดยทั่วไปมักจะมีอาการหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน แล้วแต่ชนิดของเชื้อโรค ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวเชื้อโรคเอง หรือสารพิษที่เชื้อโรคสร้างขึ้นมา ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาต่อเยื่อบุผนังของทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้น ความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
 
อาการต่างๆ ที่ปรากฏ ได้แก่
 
1.ท้องเสีย ถ่ายบ่อยๆ อาจจะถ่ายเป็นน้ำมากกว่าวันละ 3 ครั้ง ถ้าเกิดจากพิษของแบคทีเรีย หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้นทำลายผนังลำไส้โดยตรงหรือทำให้เกิดลำไส้อักเสบ
2.คลื่นไส้ อาเจียน
3.ปวดท้อง มักจะปวดเป็นพักๆ ปวดจนตัวงอ เนื่องจากลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรง
4.มีไข้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อในลำไส้
5.อ่อนเพลีย เนื่องจากขาดน้ำและเกลือแร่ซึ่งสูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระ
6.ในเด็ก จะซึม ไม่เล่น มีลักษณะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวหนังเหีบ***่ยวย่น ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม
7.หากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วและรุนแรง อาจจะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องระมัดระวังและใส่ใจเป็นพิเศษสำหรับอาการท้องเสียในเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือเคมีบำบัด และผู้ป่วยโรคเอดส์
 
คำแนะนำในการดูแลตัวเอง
 
- เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรหยุดรับประทานอาหารต่างๆ 2-4 ชั่วโมง เพื่อให้ลำไส้หยุดพักการทำงาน
- หลังจากนั้น ควรดื่มเกลือแร่ผงที่ผสมในน้ำต้มสุกสะอาด (ตามสัดส่วนบนฉลาก) หรือใช้เกลือป่น ? ช้อนชา และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำเปล่าต้มสุก 1 ขวด เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป
- หลังจากนั้นจึงเริ่มรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น น้ำข้าวใส่เกลือ น้ำแกง โจ๊ก หรือข้าวต้ม งดอาหารรสจัดและอาหารที่มีกากมาก เช่น ผัก ผลไม้
- ควรงดดื่มนม จนกว่าจะหายท้องเสีย
- นอกเหนือจากนั้น ก็รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาแก้อาเจียน แก้ปวดท้อง ยาลดไข้

เมื่อใดควรไปพบแพทย์
 
1.อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย
2.เป็นในผู้ป่วยโรคที่มีภูมิต้านทานต่ำ
3.เป็นในเด็กหรือผู้สูงอายุ ที่มีอาการขาดน้ำมาก ซึมลง รับประทานอะไรไม่ได้
4.อาเจียนรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือสารน้ำทดแทนได้
5.ถ่ายเป็นมูกเลือด
6.มีไข้สูง หนาวสัน
  
การป้องกัน
 
1.เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก เสร็จใหม่ๆ ใช้วัตถุดิบที่สด สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม หรือสัมผัสกับฝุ่นละออง
2.หากจะเก็บอาหารที่เหลือจากการรับประทาน หรืออาหารสำเร็จรูปที่ซื้อไว้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน
3.ก่อนซื้ออาหารกระป๋องสำเร็จรูป ควรเลือกยี่ห้อที่เชื่อถือได้ ฉลากอยู่ครบไม่ลบเลือน แสดงสถานที่ผลิต วันผลิตและวันหมดอายุชัดเจน กระป๋องไม่มีรอยบุบหรือโป่ง
4.หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่คุ้นเคย เช่น อาหารทะเลบางชนิด เห็ดพิษ เนื้อสัตว์ป่า
5.ผักหรือผลไม้ ควรล้างหรือแช่ให้สะอาดก่อนรับประทาน
6.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารและรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ
7.ดื่มน้ำที่สะอาด ต้มสุก ถ้าต้องดื่มน้ำนอกบ้าน ควรเลือกดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ที่มีตรา อย. รับรอง ฝาปิดผนึกเรียบร้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องดื่มน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรนำมาต้มให้เดือดเสียก่อน
8.กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
 
ส่วนใหญ่แล้วอาการท้องเสียมักจะหายได้เอง หากรักษาภาวะการขาดน้ำและรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับไล่ของเสีย สารพิษ และเชื้อโรคออกจากร่างกาย
 
การรับประทานยาหยุดถ่ายหรือยาแก้ท้องเสีย ทำให้ลำไส้ต้องเก็บกักเชื้อโรคไว้นานขึ้น และทำให้ท้องอืด ปวดและแน่นท้องมาก ส่วนการรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น อาจเกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาใดๆ
 
..........................................................................................
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000159025
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ