Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








อีสุกอีใส

05 ก.ย. 2549

โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคภายหลังรับเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝน เช่นเดียวกับโรคหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี โดยมากพบในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5 - 12 ขวบ รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 1 - 4 ขวบ กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ตามลำดับ 
 
โรคอีสุกอีใสติดต่ออย่างไร
อีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย จากการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณตุ่มใส หรือติดต่อจากการใช้ของปะปนกัน นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอีสุกอีใส ก็มีโอกาสติดต่อไปถึงเด็กในครรภ์ โดยระยะเวลาที่ติดต่อกันได้ง่าย มักเป็นช่วง 2 วันก่อนมีตุ่มขึ้น ไปจนถึงหลังมีตุ่มขึ้นแล้ว 4 - 5 วัน
 
อาการของโรคอีสุกอีใส
เด็กที่เป็นอีสุกอีใสจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ และคัน ต่อมาอีก 2 - 3 วันก็จะตกสะเก็ดผื่นและตุ่มเหล่านี้จะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง และมีประปรายบริเวณแขนและขา บางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นเท่านั้น วัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็กๆ โดยทั่วไปผื่นจะหายได้โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นจะมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน
 
ผื่นและตุ่มที่ขึ้นนี้จะค่อยๆ ขึ้นทีละระลอก ไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย จึงมีให้เห็นทั้งที่เป็นผื่นแดงราบ ตุ่มน้ำใสๆ ตุ่มกลัดหนอง และที่เริ่มตกสะเก็ด จึงทำให้คนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใส
 
อาการแทรกซ้อน
โดยทั่วไปอาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรง เป็นเองและหายเองได้ แต่จะพบว่ามีอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา
 
ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ได้รับยารักษามะเร็งหรือสเตียรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายใน เช่น สมอง ปอด ตับ ได้
 
การรักษาโรคอีสุกอีใส
เนื่องจากเป็นโรคที่หายเองได้ โดยอาจจะมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มก็จะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายไปภายใน 1 - 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูง ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ ทำให้เสียชีวิตได้
 
ควรอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ หากคันมากๆ อาจให้ยาช่วยลดอาการคันได้ ปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของไวรัส แต่มีราคาแพง และต้องใช้ในปริมาณสูง นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรก มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผลเลย หรือไม่ได้ผลดีพอ
 
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอีสุกอีใส
 
1. โรคนี้เมื่อหายแล้วมักจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจจะออกมาเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้
2. โรคนี้ไม่มีของแสลง แต่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ มากๆ เพื่อจะได้มีภูมิต้านทานโรค และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
 
การป้องกันโรคอีสุกอีใส
- แยกผู้ป่วยให้อยู่ต่างหาก
- ไม่ใช้ของใช้ปะปนกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมากๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
 
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส นอกจากประโยชน์โดยตรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็นอันเนื่องมาจากการเป็นโรคอีสุกอีใส ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
 
70 - 90 % ของคนที่ได้รับวัคซีน จะปลอดภัยจากโรคอีสุกอีใส ถ้าจะเป็น ก็จะเป็นชนิดอ่อนๆ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ และหายได้เร็วกว่าปกติ แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นที่ไม่ได้รับการป้องกันได้
 
แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใสในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และควรรับวัคซีนก่อนอายุครบ 13 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 13 ปี ต้องรับวัคซีน 2 ชุดในช่วงเวลา 4 - 8 สัปดาห์ มีรายงานจากประเทศญี่ปุ่นว่า หลังฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม จะให้ภูมิคุ้มกันยาวนานกว่า 20 ปี
 
..........................................................................................................
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000004055
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ