Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ไข้หวัดใหญ่

05 ก.ย. 2549

ไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกช่วงอายุ พบมากเป็นพิเศษในเด็ก แต่อัตราการตายมักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร
ไข้หวัดธรรมดาเป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้แต่ไม่สูงนัก สำหรับไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อ Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจะลามไปสู่ปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว มีไข้สูงกว่าไข้หวัดธรรมดา ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก เชื้อโรคมาจากน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการหายใจ การสัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ หรือการที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วมาขยี้ตาหรือเอาเข้าปาก
 
อาการของโรค
1.ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-4 วัน
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างฉับพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อน แดง ตาแดง มีอาการอาเจียนหรือท้องเดิน มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส อยู่ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายภายใน 1 สัปดาห์
2.สำหรับรายที่เป็นรุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน มักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆด้วย เช่น
- อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก หรือหัวใจวาย
- ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
- ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไอ และปวดตามตัวนานถึง 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากปอดบวมและโรคหัวใจ หรือโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทำให้เป็นปอดบวม ฝีในปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
สำหรับไข้หวัดใหญ่ในหญิงมีครรภ์ มักจะเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก และอาจทำให้แท้งได้
 
ระยะติดต่อ
- ระยะเวลาที่ติดต่อ คือ 1 วันก่อนเกิดอาการ และ 5 วันหลังจากมีอาการ
- ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
 
ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อไร ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์
ในเด็กควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อ
- มีไข้สูงและเป็นเวลานาน
- ให้ยาลดไข้แล้ว ไข้ยังสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
- หายใจหอบหรือหายใจลำบาก
- ไข้ลดลง แต่ยังหายใจหอบ
- มีอาการมากกว่า 7 วัน
- ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
- ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารไม่ได้
- เด็กซึมลง ไม่เล่น
 
สำหรับผู้ใหญ่ควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อ
- มีไข้สูงและเป็นเวลานาน
- หายใจลำบากหรือหายใจหอบ
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- หน้ามืดเป็นลม
- อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้
 
การป้องกัน
- ล้างมือบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา
- อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เช่น แก้วน้ำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาไอหรือจาม
 
การฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อและลดการเกิดโรคแทรกซ้อน
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ แต่จะเลือกฉีดให้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนคือ
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคเอดส์
- หญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
- ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
- เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
- สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
- นักเรียนที่อยู่รวมกัน
- ผู้ที่จะไปเที่ยวหรือศึกษาต่อ ณ แหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
 
ผลข้างเคียงของวัคซีน
จะเจ็บบริเวณที่ฉีดแต่ไม่มากนัก และจะหายภายใน 2 วัน อาการทั่วๆ ไป คือ มีไข้ ปวดตามตัวหลังจากฉีดวัคซีนประมาณ 6-12 ชั่วโมง บางรายอาจจะมีผื่นลมพิษ ริมฝีปากบวม
ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโปรตีน ประเภทไข่
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000014229
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ