Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








หัวใจวายเฉียบพลันและหัวใจล้มเหลว/เอมอร คชเสนี

05 ก.ย. 2549

โดย เอมอร คชเสนี
 

หัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack
 
Heart Attack คือภาวะที่มีอาการหัวใจวาย หรือเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน ส่วนใหญ่เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลัน
 
ทำไมจึงเกิด Heart Attack หรือการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ
- การสะสมของไขมันในหลอดเลือด ที่เรียกว่า plaque
- เกิดการปริแยกหรือฉีกขาดของ plaque
- การเกิดก้อนเลือดอุดตันภายในหลอดเลือด

Plaque คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ้าการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดเสียไปหรือเสื่อมสภาพลง ก็จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด เกิดเป็น plaque ขึ้น คล้ายกับการเกิดสนิมขึ้นในท่อประปา ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวก
 
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิด Heart Attack
อาจจะมีสิ่งมากระตุ้นทำให้เกิดการปริแยกของ plaque เช่น การออกกำลังกายมากเกินไป มีความเครียดมาก โกรธหรือเสียใจมากๆ และมักจะพบได้บ่อยในช่วงตื่นนอน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเชื้อโรคบางชนิดก็ทำให้เกิดการอักเสบของ plaque ขึ้นได้
 
ลดการเกิด Plaque ได้อย่างไร
เราอาจสามารถป้องกันไม่ให้เกิด Heart Attack ได้ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ลดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด หรือลดการเกิด plaque และลดการอักเสบหรือการป้องกันการปริแยกของ plaque นั่นเอง
 
การลดการสะสมของ plaque ทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน หยุดสูบบุหรี่ ลดไขมันในเลือด ควบคุมความดันโลหิต โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
 
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่าการลดความอ้วนก็สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วยเช่นกัน
 
ส่วนการป้องกันการปริแยกของ plaque คือการควบคุมสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งมีหลักฐานว่าสามารถลดอัตราการเกิด Heart Attack ได้แก่ การให้ยาต้านเกร็ดเลือด ยาลดไขมันและยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
 
เมื่อเกิด Heart Attack ควรทำอย่างไร
การรักษาที่ดีที่สุด คือการเปิดหลอดเลือด หรือละลายก้อนเลือดที่อุดตันออก ซึ่งควรจะทำให้เร็วที่สุด หากสามารถเปิดหลอดเลือดที่อุดตันออกได้เร็ว โดยเฉพาะภายใน 6 ชั่วโมงแรกหลังจากที่มีอาการเจ็บหน้าอก จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายน้อยลง และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง รวมทั้งอัตราการรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น ดังนั้น ข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดในขณะที่เกิด Heart Attack คือไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
 
การป้องกัน Heart Attack
1.ควบคุมการเกิด plaque โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน
2.ลดการสะสมของ plaque หรือตรวจหา plaque ที่อักเสบ หรือมีโอกาสที่จะฉีกขาดได้ง่าย หากสามารถตรวจพบและให้การรักษาได้ทันท่วงที ก็จะสามารถป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณที่สำคัญๆ เช่น หลอดเลือดที่สมอง หรือหลอดเลือดที่หัวใจ และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (Stroke) และ Heart Attack ได้
3.ป้องกันการปริแยกของ plaque โดยการควบคุมสิ่งกระตุ้นต่างๆ ร่วมกับการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
 
หัวใจล้มเหลว ( Heart Failure )
ภาวะหัวใจล้มเหลว ( Heart Failure หรือ Congestive Heart Failure ) หมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้น
 
เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เช่น ฮอร์โมนหลายชนิดเพิ่มขึ้นผิดปกติ หลอดเลือดแดงหดตัว แรงต้านต่อหัวใจมากขึ้น หัวใจทำงานหนักมากขึ้น ความดันโลหิตลดลง ผลที่ตามมาคือไตวาย และอวัยวะต่างๆ ไม่ทำงานตามปกติ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
 
อาการของหัวใจล้มเหลว
อาการจะขึ้นอยู่กับว่าหัวใจซีกใดผิดปกติ หากหัวใจซีกขวาล้มเหลว ก็จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเข้าหัวใจซีกขวาได้ดี ผลที่ตามมาคือตับโต ทำให้แน่นท้อง ปวดท้อง เบื่ออาหาร และมีอาการขาบวม ท้องบวม แต่ถ้าหัวใจซีกซ้ายล้มเหลว อาการเด่นคืออาการทางปอด เนื่องจากมีเลือดคั่งในปอดมาก ได้แก่ เหนื่อย หอบ ไอเป็นเลือด นอนราบไม่ได้เพราะจะเหนื่อยมาก จนไม่สามารถหายใจได้ในที่สุด
 
สาเหตุของหัวใจล้มเหลวได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัส เบาหวาน แอลกอฮอล์
 
การรักษา
รักษาตามอาการ ให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดน้ำในปอด ยาขยายหลอดเลือดแดงช่วยให้หัวใจทำงานสบายขึ้น ให้ยากระตุ้นหัวใจ บางรายต้องรักษาตามสาเหตุด้วย เช่น ผ่าตัดแก้ไขลิ้นหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น หากหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุม
 
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
กับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะยาหลายอย่างมีผลแทรกซ้อนมาก หากมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000046099
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ