Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








เตือน "คอชา" อย่าเชื่อโฆษณาดื่มชาเขียวป้องกันโรค

05 ก.ย. 2549

        อย. ห่วงใย เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาเครื่องดื่มชาเขียวที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถยับยั้งและป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการ เตือนหากดื่มประจำในปริมาณมากจะได้รับสารกาเฟอีนและน้ำตาลสูง เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก่อปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เตรียมกำหนดให้ผู้ค้าแสดงสารสำคัญในชาเขียว 
  
        ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเครื่องดื่มชาเขียวหลากหลายยี่ห้อจำหน่ายตามท้องตลาด ซึ่งแต่ละยี่ห้อมีกลยุทธ์ส่งเสริมการขายหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ การโฆษณาหรือกล่าวอ้างสรรพคุณว่า เครื่องดื่มชาเขียวมีสารโพลิฟีนอล (polyphenol) ที่เป็นแอนติออกซิแดนซ์ มีคุณสมบัติช่วยป้องกันกำจัดอนุมูลอิสระ และโคเลสเตอรอล ป้องกันการเกิดเส้นเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง หากดื่มเป็นประจำทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ลดน้ำหนัก หรือป้องกันฟันผุได้ จนผู้บริโภคหลงเชื่อโหมดื่มชาเขียวเป็นจำนวนมาก สำนักงาน อย. เกรงผู้บริโภคเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริงว่า สารโพลิฟีนอลจะมีผลดีต่อร่างกายดังที่กล่าวอ้างจะต้องมีการบริโภคชาเขียวมากกว่าปกติหลายเท่า ที่สำคัญ การศึกษาประโยชน์และการป้องกัน หรือรักษาโรคในการบริโภคชาเขียวเป็นการศึกษาเฉพาะในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ซึ่งยังไม่เคยมีการศึกษาในมนุษย์และปริมาณที่ใช้ในการทดลองก็เป็นปริมาณที่สูงมากกว่าที่คนทั่วไปบริโภคหลายเท่าตัว อาจสรุปได้ว่า ประโยชน์จากการดื่มเครื่องดื่มชาเขียวคือ เพื่อดับกระหาย และให้ความสดชื่นเท่านั้น
 
         "ขอให้ตระหนักถึงปริมาณกาเฟอีนในเครื่องดื่มชาเขียวด้วย ถึงแม้จะเป็นกาเฟอีนที่ได้มาจากธรรมชาติ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินในแต่ละวัน ก็อาจจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ เพราะกาเฟอีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของประสาท เพิ่มการเผาผลาญเพิ่มการทำงานของหัวใจและไต โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มชาเขียว เครื่องดื่มชาเขียวที่จำหน่ายขณะนี้มีปริมาณกาเฟอีนประมาณ 14-15 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หากดื่มเครื่องดื่มชาเขียว 1 ขวด ที่มีปริมาณ 500 มิลลิลิตร ก็จะได้รับกาเฟอีน 70-75 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูง เครื่องดื่มชาเขียวส่วนใหญ่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเพื่อแต่งรส หากบริโภคจำนวนมากจะได้รับปริมาณน้ำตาลสูง มีผลทำให้เกิดโรคอ้วนได้โดยเฉพาะในเด็ก และมีผลข้างเคียงต่อร่างกายโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน” ศ.ดร.ภักดี กล่าว
 
           เลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า กำลังประสานให้นักวิชาการด้านโภชนาการและผู้เกี่ยวข้องศึกษาและติดตามข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสารสำคัญในชาเขียวรวมถึงผลกระทบในด้านความเสี่ยงต่อผู้บริโภค เพื่อพิจารณาในการกำหนดให้ระบุสารสำคัญหรือข้อความที่เหมาะสมอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกอบการผลิตคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่าโฆษณาโอ้อวดเกินความจริง เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า หากตรวจพบมีการโฆษณาโอ้อวด อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด และผู้บริโภคท่านใดพบเห็นการโฆษณาเครื่องดื่มชาเขียวที่เกินจริง โปรดแจ้งมายัง สายด่วน อย. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อ อย. ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000147261
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ