Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








เตือน “จ็อกกิ้ง โยคะ” เพิ่มความเสี่ยงข้อเสื่อม

07 ส.ค. 2549

          แพทย์โรคข้อแนะประชาชนบริหารกล้ามเนื้อหน้าขาให้ข้อเข่าแข็งแรง ชะลอภาวะข้อเข่าเสื่อม เตือนอันตราย "จ็อกกิ้ง-โยคะ” ทำให้ข้อเข่า กระดูกบาดเจ็บ เพราะเกิดแรงกดทับ 3 เท่าของน้ำหนักตัว แนะออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว แนวโน้มคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่ม เพราะโรคอ้วนคุกคาม ย้ำชายรอบเอวไม่ควรเกิน 36 นิ้ว หญิง ไม่ควรเกิน 32 นิ้ว
 
          ผศ.นพ.ภาริส วงศ์แพทย์ แพทย์อายุรกรรมโรคข้อ บรรยายเรื่อง การบริหารร่างกายในคนปวดข้อเข่า ในโอกาสที่มูลนิธิโรคข้อ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จัดงานวันโรคข้อสากลปี พ.ศ.2546 ความพิการจากโรคปวดข้อเข่า ที่โรงพยาบาลราชวิถี เช้าวันนี้ (5 ต.ค.) ว่า การรักษาอาการปวดข้อเข่ามีหลายวิธีทั้งการใช้ยา การบริหารร่างกาย
 
          ทั้งนี้ ในการบริหารร่างกายต้องทำอย่างเหมาะสม อย่าให้ข้อเข่าเสียดสีกันซ้ำซากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ ควรทำในขณะที่ข้อเข่าไม่มีอาการบาดเจ็บ หากไม่มั่นใจให้เลือกวิธีบริหารร่างกายแบบกลาง ๆ เช่น นั่งบนเก้าอี้แล้วยกขาขึ้นลง ครั้งแรกทำประมาณ 10-20 ครั้ง หากไม่เจ็บ ไม่ปวดข้อเข่าแล้วค่อยเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเป็น 30-40 ครั้ง
 
          จากนั้นจึงเพิ่มการถ่วงน้ำหนัก อาจเป็นถุงทรายหรืออะไรก็ได้ เริ่มจากน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมก่อน เมื่อข้อเข่าแบกรับน้ำหนักได้แล้วจึงเพิ่มน้ำหนักถ่วง ยกแค่ 10 ครั้งก็พอ เพราะมีน้ำหนักถ่วงแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้ระวังคือ การถีบจักรยานที่ตั้งความฝืด ระดับความสูงไม่เหมาะสม จะเพิ่มความบาดเจ็บให้กับข้อเข่าได้ เพราะมีการเสียดสีกันของข้อเข่า
 
           ด้าน รศ.พ.อ.(หญิง) พญ.พรฑิตา ชัยอำนวย ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า การรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมเมื่อคนไข้ลดน้ำหนักได้จะทำให้อาการดีขึ้น ซึ่งการเจ็บปวดเข่าเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย จึงต้องหาวิธีทีเหมาะสม แนวทางหนึ่งในการลดน้ำหนักคือ การควบคุมอาหาร ให้กินอาหารอย่างหลากหลาย
 
          "เคี้ยวช้า ๆ หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารหวาน อาหารที่ปรุงโดยการทอด กินผลไม้ไม่หวาน ใช้การต้ม ตุ๋น นึ่งแทนการทอด ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมหากลดน้ำหนักได้ อาการปวดหลัง ปวดเข่าจะดีขึ้น นอกจากนั้นยังลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อัมพาต เบาหวานและโรคหัวใจ โดยเฉพาะในเพศชายไม่ควรมีรอบเอวเกิน 36 นิ้ว เพศหญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว” รศ.พ.อ.(หญิง) พญ.พรฑิตา กล่าว
 
           ขณะเดียวกัน ศ.กิตติคุณ นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย กล่าวว่า น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมจะมีแรงกดทับที่ข้อเข่า 3 กิโลกรัม ในคนไข้ข้อเข่าเสื่อมจึงต้องลดน้ำหนัก เป็นแนวทางการดูแลที่ได้ผล
 
           "ประชาชนทั่วไปควรออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าขา ข้อเข่า ให้แข็งแรงไว้ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ข้อเข่าที่แบกน้ำหนักตัวตั้งแต่เราเริ่มเดินจะได้เสื่อมช้า แนวทางการป้องกันคือ อย่าอ้วน ดัชนีมวลกาย(BMI) ซึ่งคิดโดยนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมตั้งหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ผลลัพธ์ไม่เกิน ๒๓ เป็นค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะกับคนไทย อย่าใช้งานข้อเข่าหนัก หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ พบว่าการวิ่งจ๊อกกิ้งยิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว เวลาที่วิ่งตัวลอย น้ำหนักจะกระแทกลงที่ข้อเข่า แนวทางที่เหมาะสมควรออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วแทนการวิ่ง”
 
            อย่างไรก็ตาม ศ.กิตติคุณ นพ.เสก ได้เปิดเผยข้อมูลว่า การจ๊อกกิ้งทำให้ข้อเข่าหลวม รับแรงกระแทกมาก เช่นน้ำหนัก 60 กิโลกรัมมีแรงกดทับข้อเข่า 180 กิโลกรัม วิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร
 
           "คิดดูว่าข้อเข่าจะบาดเจ็บหรือไม่ ช่วงที่ผ่านมาพบว่า พวกที่ออกกำลังกายแบบโยคะ ทำให้ข้อเข่าหลวม กระดูกสันหลังหลวมจากการแอ่นอก กระดูกขบกัน เป็นการทำร้ายกระดูก มีคนไข้บาดเจ็บจากการฝึกโยคะมารักษาค่อนข้างมาก”
 
            ทั้งนี้ เพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อม ศ.กิตติคุณ นพ.เสก แนะนำว่า ควรรับประทานอาหารมีแคลเซียม โปรตีนสูง นอนในท่าทางที่ถูกต้อง นั่งเหมาะสม กำลังรณรงค์ให้คนไปวัด ไปโบสถ์นั่งบนเก้าอี้ ไม่ต้องนั่งพับเพียบกับพื้น เพื่อรักษาข้อเข่าให้อยู่กับเรานาน ๆ รวมทั้งให้เห็นความสำคัญของการบริหารกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง 
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=2000000034025 
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ