Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








น้ำนมแม่…ขุมทรัพย์จากธรรมชาติ

07 ส.ค. 2549

           นอกเหนือจากเพื่อการสร้างสายสัมพันธ์แห่งความรักที่ลูกมีต่อแม่แล้ว น้ำนมจากอกแม่ยังมีคุณค่าอีกมหาศาล น่าเสียดายที่เด็กยุคนี้บางคนอาจไม่มีโอกาสซึมซับความอบอุ่นระหว่างที่แม่ให้นมเหมือนเด็กรุ่นก่อนๆ เนื่องเพราะข้อจำกัดที่หลากหลาย เช่น แม่ไม่สามารถลาคลอดได้นาน หรือต้องออกไปทำงานจนไม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของแม่เอง
 
            จากข้อมูลการศึกษาและวิจัย พบว่า ประโยชน์และคุณค่าของน้ำนมแม่นั้น มีมากมายมหาศาลกว่าที่มนุษย์เคยรับรู้มาก่อน ดังนั้น หนังสือ "คู่มือ...เลี้ยงลูกด้วยนมแม่” จึงเกิดขึ้นมา เพื่อให้คุณแม่ หรือผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ ตระหนักถึงคุณค่าของนมแม่ที่มีต่อลูก
 
             ทั้งนี้ ศ.นพ.ประพุทธ ศิริปุณย์ นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ทารกเกิดใหม่ในประเทศไทยมีปีละประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้มีทารกแรกเกิดจนถึง 4 เดือนแรก ถึงร้อยละ 50 ที่ไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และกินนมอย่างไม่ถูกวิธี ขณะที่มีทารกวัย 4 เดือนเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่กินนมแม่อย่างเดียว
 
              หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้เด็กไทยในอนาคตมีปัญหาในหลายเรื่องตามมา เช่น ไอคิว อีคิว รวมถึงโรคภูมิแพ้ และโรคเรื้อรังต่างๆ
 
              ด้าน พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร แพทย์ผู้คลุกคลีกับเด็กมานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า การวิจัยที่ผ่านมา พบว่านมแม่ถือเป็นต้นทุนที่ดีในการเสริมสร้างไอคิวให้แก่เด็ก นอกเหนือจากสภาพการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมแล้ว เนื่องจากน้ำนมจากแม่จะมีสารไขมันและสารอื่นๆ ที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของมันสมองและเซลล์สมอง
 
              รวมทั้งการโอบกอดของแม่ในทุกครั้งที่ให้นมลูก และการพูดคุยกับลูกระหว่างการให้นม ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่และลูกได้ดียิ่งขึ้น
 
              อย่างไรก็ดี ในช่วง 4- 5 ปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่า 30 กรณี แสดงให้เห็นว่าทารกที่กินนมแม่จะมีระดับของพัฒนาการและเชาว์ปัญญาดีกว่าทารกที่ได้รับนมผสม โดยความแตกต่างจะมีตั้งแต่ 2-3 จุดไปจนถึง 8-11 จุด โดยการวิเคราะห์เหล่านี้ ได้พยายามตัดข้อแตกต่างทางด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมออกไป เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่เกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ชัดเจน
 
              อย่างเช่นการศึกษาในประเทศเดนมาร์ค พบว่าในผู้ใหญ่ที่เกิดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว กลุ่มที่มีประวัติกินนมแม่นาน จะมีระดับเชาว์ปัญญาดีกว่าคนที่กินนมแม่น้อยกว่า หากกินนมแม่นานกว่า 9 เดือนก็จะมีระดับเชาว์ปัญญาดีกว่ากลุ่มที่กินนมแม่น้อยกว่า 1 เดือน ถึง 5 จุด
 
             หรือการศึกษาจากโรงพยาบาลนครศรีธรรมราชที่ทำการศึกษาในศูนย์เลี้ยงเด็ก พบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่จะมีพัฒนาการเมื่ออายุ 1 ขวบตามปกติทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่ได้รับนมผสม จะมีพัฒนาการช้าถึงร้อยละ 17 จากจำนวนเด็กที่ทำการศึกษา
 
             พญ.ศิราภรณ์ บอกด้วยว่า การเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่จะทำให้แม่และลูกใกล้ชิดกัน โอบกอดกัน และมีโอกาสตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ (EQ) อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นที่ทารกมีต่อแม่ และสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กต่อไป 
 
             ในส่วนของโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อต่างๆ พบว่าทารกที่กินนมผสมมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่กินนมแม่ถึง 2- 7 เท่าตัว ดังนั้น การป้องกันโรคภูมิแพ้ในเบื้องต้น แม่จึงควรให้นมลูกอย่างเดียวในระยะ 4-6 เดือนแรกโดยไม่ต้องใช้นมผสมร่วมด้วย เพื่อที่ทารกจะไม่ได้รับโปรตีนแปลกปลอมจากสัตว์อื่น เพราะในช่วงนี้ภูมิคุ้มกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ที่คอยดักจับสารแปลกปลอมของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่
 
             นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคท้องเสียมีเพียง 4-5% ขณะที่ทารกที่กินนมผสมมีอัตราท้องเสียสูงถึง 15-20% และโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบ ปอดบวม หรือการอักเสบของหูชั้นกลาง ก็มีแนวโน้มน้อยกว่าทารกที่กินนมผสมด้วย 
 
             ขณะที่ รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ กุมารแพทย์ด้านภาวะโภชนาการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันโรคอ้วนด้วยการเลี้ยงด้วยนมแม่ ว่าปัจจุบัน โรคอ้วนในเด็กถือเป็นปัญหาสำคัญไปทั่วโลก และในเด็กไทยก็มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ในระยะเวลา 5 ปี (2539-2544) พบว่าโรคอ้วนในเด็กไทยก่อนวัยเรียนมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี มีเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 31
 
            ทั้งนี้ ผลร้ายของโรคอ้วนที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ก็มี โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปัญหาทางภาวะจิตใจและเกิดการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจตามมาด้วย
 
            การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 4-6 เดือนแรก จะทำให้ทารกได้รับนมในปริมาณที่พอเหมาะและป้องกันโรคอ้วนในทารกได้อย่างดี และการดูดนมแม่ตามธรรมชาตินั้น ลูกจะเป็นผู้ควบคุมปริมาณน้ำนมที่ดูดด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากการดูดนมผสมจากขวด ที่บางครั้งแม้ลูกอิ่มแล้วแต่แม่หรือคนเลี้ยงเห็นนมในขวดเหลืออยู่ ก็จะพยายามให้ลูกดูดต่อจนหมด ทั้งๆ ที่มากเกินความจำเป็น
 
            ส่วนการกินนมแม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ทีมแพทย์ผู้ศึกษาพบว่า ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวไปจนถึง 6 เดือน จึงค่อยเริ่มให้อาหารตามวัยเพิ่มเติมควบคู่กับน้ำนมแม่ จนกระทั่งลูกอายุ 1-2 ปี
 
            โดยการกินนมแม่อย่างเต็มที่ในช่วง 6 เดือนแรก หมายถึงในการกินแต่ละครั้งต้องให้เด็กดูดจนหมดเต้า เพราะน้ำนมส่วนหลังจะมีปริมาณไขมันมาก และลูกจะได้ประโยชน์มากขึ้นโดยไม่ต้องเสริมนมผสมและไม่ต้องกินน้ำ
 
             ส่วนผู้ที่เป็นแม่ หากมีน้ำนมไม่พอก็ควรปรึกษาแพทย์ ที่สำคัญคือต้องดูแลสุขภาพตนเอง หากชอบกินนมก็ให้กินเพียงวันละ 1-2 แก้ว หากกินมากไปอาจทำให้โปรตีนแปลกปลอมจากนมวัวเล็ดลอดเข้าไปในนมแม่ได้
 
             สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวเป็นแม่ หนังสือเล่มดังกล่าวจัดว่ามีประโยชน์สูงสุด แล้วคุณจะรู้ว่า เพียง 6 เดือนแรกที่คุณใช้เวลากับลูก ผลที่ตามมามีมากกว่าที่คุณคิดมากมายนัก
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=4751488167643
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
 

( )