Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ระวังโรคอ้วนคุกคามเด็กไทย

07 ส.ค. 2549

            "อ้วนจ้ำม่ำอย่างนี้ ขอหยิกแก้มสักที ให้หายมันเขี้ยว” พ่อแม่รายใดได้ยินเสียงทักลูกน้อยแบบนี้คงอมยิ้มกันถ้วนหน้า เพราะถือเป็นการชมอยู่กลายๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างดี โดยเฉพาะทางด้านอาหารการกิน แต่เมื่อเด็กเริ่มโต น้ำหนักเกินกว่าอายุที่เคยถูกมองว่าน่ารักในวัยเด็กจะเริ่มเป็นปัญหาทันที ยิ่งเมื่อต้องเข้าโรงเรียนแล้วถูกเพื่อนล้อเรื่องรูปร่าง ก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของหนูน้อยได้ โดยเฉพาะเมื่อโดนล้ออยู่เป็นประจำ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่อาจละเลยได้
 
             ข้อมูลการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ล่าสุดพบว่า เด็กไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วนอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง และร้อยละ 10 ของเด็กที่มีปัญหาความอ้วนจะมีปัญหาด้านจิตใจอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเป็นโรคเครียด ซึมเศร้า และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ มากมาย ทั้งประจำเดือนมาไม่ปกติ, เป็นหมัน, นิ่วในถุงน้ำดี, ระบบหายใจผิดปกติ, ผิวหนังแตก
 
             หากเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้วยังไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้ ปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวก็คือความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ ที่มาพร้อมกับความอ้วน ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวา, ความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง, เบาหวานแบบที่ไม่พึ่งพาอินซูลิน, โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน ฯลฯ
 
             ผลการสำรวจยังชี้ด้วยว่า ลักษณะอ้วนของเด็กนี้จะเริ่มพบได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงวัยรุ่น โดยเด็กวัยรุ่นชายจะอ้วนมากกว่าวัยรุ่นหญิง แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพศหญิงที่อ้วนจะมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าเพศชาย และหลายคนมีทัศนคติผิดๆ ที่คิดจะลดน้ำหนักเมื่อโตขึ้น เพราะส่วนใหญ่พบว่ากว่าจะถึงวันนั้นก็สายเสียแล้ว
 
             อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองที่ตกลงปลงใจว่าจะให้ลูกลดน้ำหนัก ก็ควรคำนึงถึงตัวเด็กเป็นหลักไม่ใช่คิดถึงเป้าหมายอย่างเดียว เรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็คือความพร้อมของเด็ก โดยตัวเด็กต้องเข้าใจว่าต้องลดน้ำหนักเพื่ออะไร ที่สำคัญคือต้องทำให้การลดน้ำหนักเป็นเรื่องสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสังเกตพฤติกรรมว่าเด็กชอบอะไร เพื่อจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนควบคุมน้ำหนัก
 
            สำหรับแนวทางการลดน้ำหนักนั้น รศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้แนะหลักพิชิตความอ้วนไว้ 4 ประการ คือ ควบคุมอาหาร, ออกกำลังกาย, ปรับพฤติกรรม และมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครองและคนรอบข้าง จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 หลักนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันทั้งกายและจิตใจ รวมทั้งพ่อแม่ต้องมีส่วนช่วยด้วย โดยต้องเป็นต้นแบบปรับพฤติกรรมการกินของตัวเอง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องสุขลักษณะ
 
            ตลอดจนต้องคอยให้รางวัลแก่ลูกเมื่อทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยรางวัลที่จะให้ต้องเป็นรางวัลที่มีค่าทางจิตใจมากกว่า เช่น การกล่าวชื่นชมในยามที่ทำได้ กล่าวชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม และแสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนช่วยให้เด็กเกิดแรงฮึดที่อยากทำจนสำเร็จ 
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=4710525643229
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ