Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








รังสีรั่วไมโครเวฟ อันตรายเลี่ยงได้

13 ก.ค. 2549

           ปัจจุบันแม่บ้านสมัยใหม่นิยมใช้เตาไมโครเวฟมากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว ทันอกทันใจชีวิตสมัยใหม่ ที่ทุกอย่างดูจะเร่งรีบไปเสียหมด แต่มีแม่บ้านและผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่น้อยรายนักที่จะตระหนักถึงการใช้เตารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้าง ความยาว และความลึก อันเป็นหน้าตาอันแสนจะธรรมดาของเครื่องใช้ไม้สอยทั่วๆไป ว่าหากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง การรั่วของคลื่นไมโครเวฟอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และการไม่เข้าใจการทำงานของเตาไมโครเวฟ ก็อาจจะทำให้ใช้เตาไมโครเวฟได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และสร้างอันตรายโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
 
           สุรศักดิ์ ปริสัญญกุล ผู้อำนวยการกองรังสี และเครื่องมือแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า มีผลการสำรวจระบุว่า ผู้ใช้เตาไมโครเวฟร้อยละ 68 ไม่ทราบมาก่อนว่าปกติแล้วจะมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารั่วออกจากเตาอบไมโครเวฟ ผู้ใช้ร้อยละ 57 ไม่ทราบว่าขณะใช้งานควรอยู่ห่างจากเตา ผู้ใช้ร้อยละ 12 ไม่ทราบเกี่ยวกับภาชนะที่เหมาะสมที่จะใช้กับเตาอบไมโครเวฟ และผู้ใช้ร้อยละ 23 ไม่เคยอ่านคู่มือการใช้งานที่มากับเตา
 
           "สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ เตาอบไมโครเวฟทำให้อาหารร้อนหรือสุก โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ 2,450 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งอยู่ในช่วงคลื่นที่เรียกว่าไมโครเวฟ ทั้งนี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรารู้จักกันคือ คลื่นที่ใช้ส่งสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ แสงรังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา เป็นต้น ซึ่งคลื่นไมโครเวฟมีคุณสมบัติ สามารถทะลุผ่านกระจก กระดาษ พลาสติกได้ เมื่อคลื่นไมโครเวฟกระทบกับโลหะจะเกิดการสะท้อนกลับ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงใช้ภาชนะที่เป็นโลหะกับเตาไมโครเวฟไม่ได้”
 
            สำหรับการทำงานของเตาไมโครเวฟ คือ การปล่อยคลื่นไมโครเวฟภายในตู้เพื่อทำให้อาหารสุก ซึ่งอาหารจะสุกได้ก็ต่อเมื่อมีความชื้น คือ มีน้ำผสมอยู่นั่นเอง คลื่นจะทำให้โมเลกุลของน้ำสั่นไปมาด้วยความถี่ 2,450 ล้านครั้งใน 1 วินาที การสั่นของโมเลกุลของน้ำทำให้เกิดความร้อน และความร้อนถูกถ่ายเทไปสู่เนื้ออาหาร พลังงานของคลื่นไมโครเวฟจะถูกเปลี่ยนเป็นความร้อนหลังจากถูกดูดกลืนโดยอาหาร อาหารจึงร้อนขึ้น จนกระทั่งสุก 
 
           ข้อควรระวังในการใช้เตาไมโครเวฟ คือ เวลาอุ่นอาหารในตู้อบไมโครเวฟ เลือกภาชนะที่ทำจากแก้วหรือเซรามิคแก้ว หลีกการเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติกแม้จะระบุว่าปลอดภัยในการใช้กับไมโครเวฟ ไม่ใช้พลาสติกห่ออาหารในการปรุงหรืออุ่นอาหารในตู้อบไมโครเวฟ ที่สำคัญคือ การรั่วของไมโครเวฟ อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เพราะร่างกายของเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับอาหาร ก่อนซื้อควรแน่ใจว่า ไมโครเวฟรุ่นนั้นมีการตัดไมโครเวฟโดยอัตโนมัติ เมื่อเปิดประตูเตาอบ 
 
           อย่างไรก็ตาม สุรศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า สารรังสีไมโครเวฟที่รั่วจากเตาไมโครเวฟนั้น มีปริมาณค่อนข้างต่ำ และไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะก่อให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แม่บ้านควรระวังเป็นพิเศษ คือ เมื่อวัสดุตามขอบประตูชำรุดหรือหากมีรอยร้าวและรอยแตก เศษอาหารติดอยู่ตามขอบตู้ทำให้ประตูปิดไม่สนิท หรือ การชำรุดของตู้เนื่องจากการขนย้าย หรือเกิดเปลวไฟภายในตู้จะทำให้มีปริมาณรังสีรั่วมากกว่าระดับปกติซึ่งเป็นอันตรายได้ แต่เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟมองไม่เห็นและไม่มีกลิ่น ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด ซึ่งสามารถส่งตรวจวัดได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 
  
           ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการตรวจสอบการรั่วของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเตาอบไมโครเวฟให้แก่ประชาชน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ เนื่องจากเตาอบไมโครเวฟเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประชาชน เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน และคนวัยทำงาน เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดพลังงาน 
 
           การทำงานของเตาอบไมโครเวฟเป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ 2,450 เมกะเฮิรตซ์จากหลอดแมกนีตรอนให้เกิดการสะท้อนไปมาภายในเตาอบ ถ้าหากผนังหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเตาอบมีรอยรั่วหรือไม่สามารถป้องกันการรั่วของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้เพียงพอ และผู้ใช้มีพฤติกรรมการใช้แบบไม่ระมัดระวังตัว หรือจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอุปกรณ์ชนิดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อาจได้รับอันตรายจากคลื่นรั่วจากเตาอบไมโครเวฟ 
 
           แต่โดยปกติแล้วเตาอบไมโครเวฟที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมาย มอก. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีความปลอดภัยสูง คลื่นความร้อนที่ออกมาจากเตาอบไมโครเวฟนั้นเป็นรังสีชนิดอนุภาคที่ไม่แตกตัว ไม่ทำให้โมเลกุลของสารเปลี่ยน และไม่มีผลตกค้างจึงไม่มีอันตราย อีกทั้งมีโอกาสน้อยมากที่เตาอบไมโครเวฟจะมีคลื่นรั่วออกมาเกินจากระดับที่มาตรฐาน มอก. 1773-2542 กำหนด โดยวัดระยะ 5 เซนติเมตรจากผิวเตา รั่วได้ไม่เกิน 5 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร แต่ว่าอันตรายที่เกิดขึ้นได้นั้นมักจะเกิดจากเตาอบที่มีความเก่ามากๆ เป็นสนิมผุ วัสดุเคลือบลอก บานพับประตูชำรุด ประตูปิดไม่สนิท หรือกระจกแตก อาจมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารั่วออกมา หากมีความเข้มข้นพอจะก่อให้เกิดอันตรายได้ และบางคนที่ชอบเอาหน้าไปใกล้ๆ เตาอบเพื่อดูอาหารก็จะทำให้เกิดอันตรายได้” 
 
          นพ.ไพจิตร์ สรุปว่า แต่เพื่อความปลอดภัย จึงไม่ควรเข้าใกล้เตาอบไมโครเวฟ ขณะเครื่องกำลังทำงาน เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟไม่สามารถมองเห็นได้และไม่มีกลิ่น ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด ผู้ใช้ที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยเมื่อเตาอบไมโครเวฟมีสภาพเก่าหรือซื้อมานานแล้ว ควรหมั่นดูแลเตาอบไมโครเวฟว่าฝาเตาปิดสนิทและไม่มีรอยรั่ว 
 
          "สำหรับประชาชนที่สนใจจะตรวจสอบการรั่วของเตาอบไมโครเวฟ สามารถนำมาขอรับการตรวจได้ที่กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0-2589-0022 ต่อ 99770 ในเวลาราชการ หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ ใช้เวลาตรวจเครื่องละประมาณ 15 นาที สำหรับเตาอบที่ผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว จะได้รับสติ๊กเกอร์ติดที่ตัวเครื่องเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความปลอดภัยด้วย”นพ.ไพจิตร์เชิญชวน 
 
 
เว็บไซต์ที่มา :
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000086798
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ