Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ลดไข้เด็กด้วยพาราฯ ปลอดภัยกว่าแอสไพริน

03 ก.ค. 2549

           อย.แนะการใช้ยาแก้ลดไข้ ให้อ่านฉลาก วิธีใช้ให้ละเอียดก่อนใช้ยา หากเป็นยาแอสไพรินให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะอาจระคาย เคืองต่อกระเพาะ ผู้แพ้ยาอาจจะมีอาการคลื่นไส้ เลือดออกในกระเพาะ ผื่นขึ้น หลอดลมตีบ หรือปวดมึนศีรษะ ขณะที่ยาพาราเซตามอลไม่ค่อยพบอาการดังกล่าว และเป็นยาที่ปลอดภัยเหมาะกับเด็กมากกว่า แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะมีอันตรายต่อตับได้
 
            กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะการใช้ยาบรรเทาปวดลดไข้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา โดยระบุว่า ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศมักเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เป็นสาเหตุของอาการปวดหัวตัวร้อน หรือเป็นไข้ได้ การใช้ยาเพื่อรักษาอาการดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งยาบรรเทาปวดลดไข้ 2 ชนิดคือ แอสไพริน และพาราเซตามอล ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นที่คุ้นเคย แต่บางครั้งอาจไม่รู้ว่ายาทั้ง 2 ชนิดนี้มีข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันอย่างไร
 
            กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค อย. แนะนำว่า ในยาแอสไพรินสามารถช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดกล้าม เนื้อ ปวดฟัน ปวดศีรษะได้ แต่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดอันเนื่องจากอวัยวะภายในได้ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดออกในกระเพาะ เนื่องจากมีความระคายเคืองต่อกระเพาะ การกินยาแอสไพรินจึงต้องดื่มน้ำตามมาก ๆ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลงกว่าปกติด้วย ส่วนอาการแพ้ยาซึ่งมีโอกาสเกิดได้เพียง 1 ใน 10,000 คนนั้น จะมีอาการผื่นแดง ลมพิษ มีการกระตุ้นให้หลอดลมตีบ ทำให้มีอาการคล้ายหอบหืด การเกิดพิษของแอสไพรินอาจเป็นไปได้ในกรณีที่ใช้ยาขนาดสูงมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการซาลิซัยลิซึม (Salicylism) คือ อาการได้ยินเสียงในหูปวดและมึนศีรษะ ความคิดอ่านสับสน ทารกและเด็กเล็กที่ได้รับยาเกินขนาดจะมีความผิดปกติของสมดุลกรดและด่างในร่างกาย เกิดภาวะเลือดเป็นกรดและศูนย์ควบคุมการหายใจถูกกด
 
             ขณะที่พาราเซตามอลมีฤทธิ์บรรเทาปวดลดไข้ได้ดีเช่นเดียวกับแอสไพริน แต่ไม่มีผลระงับปวดซึ่งเกิดจากอวัยวะภายในหรืออาการปวดที่มีความรุนแรงมาก จัดเป็นยาที่ปลอดภัยและเหมาะสำหรับเด็กมากกว่าแอสไพริน ไม่ค่อยพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาพาราเซตามอล การเกิดพิษจากการใช้ยานี้ ถ้าใช้มากเกินไปอาจเกิดภาวะตับวาย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ขนาดของยาที่ได้รับที่เป็นอันตรายนั้น ในผู้ใหญ่คือ กินยามากกว่า 15 กรัม ในครั้งเดียว และในเด็กมากกว่า 3 กรัมในครั้งเดียว การใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกินกว่า 5 วัน ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตับได้เช่นกัน ผู้ที่ใช้ยาพาราเซตามอลจึงต้องระมัดระวังทั้งขนาดการใช้และระยะเวลาที่ใช้ยา รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคตับโรคไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
 
            อย่างไรก็ตาม ยาบรรเทาปวดลดไข้แม้จะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่การใช้ยาก็ไม่ควรละเลยการอ่านฉลาก วิธีใช้ และข้อระวัง ให้ละเอียดก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ขณะมีไข้สูงอาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดแห้งแล้วเช็ดตามตัว และประคบหน้าผาก เป็นการลดความร้อนอีกทางหนึ่ง
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=4650382668375
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ