Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








เตือนกินปลา-กุ้งสดร้านซีฟู้ดอาจมีสารตกค้างอันตรายถึงตาย ...

15 มิ.ย. 2549

           กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเตรียมลุยตรวจตู้โชว์ปลาสวยงามในห้างสรรพสินค้าว่ามีการลักลอบนำหญ้าทะเลและปลาทะเลหายากหรือไม่ พร้อมเตือนนักเปิบที่นิยมกินปลาทะเล กุ้งสด ๆ ของร้านอาหารซีฟู้ดที่นำมาใส่ไว้ในตู้ อาจมีไซยาไนด์ คลอแรม และยาเหลืองตกค้างในตัวสัตว์ทะเล อาจก่อให้เกิดอาการไตวายเฉียบพลันถึงแก่ชีวิตได้ จี้ อย.ควรออกสุ่มตรวจร้านอาหาร
 
           นายไมตรี ดวงสวัสดิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาชายฝั่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับกรมประมงสามารถจับกุมการลักลอบขนปลาสวยงามที่ด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานภูเก็ต โดยผู้ลักลอบขนแจ้งว่าเป็นสินค้าประเภทกุ้ง และจะส่งมาที่กรุงเทพฯ มีจำนวนปลาที่จับได้มากถึง 1,638 ตัว ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาการ์ตูน 1,036 ตัว ปลาสลิดหิน ปลาผีเสื้อ ปลาชี้ตัง ปลาตั๊กแตน ปลาบู่ทราย ปลาจิ้มฟันจระเข้ ฯลฯ ขณะนี้ได้ส่งของกลางไปพักฟื้นที่สถาบันวิจัยฯภูเก็ต และทางตำรวจกำลังดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มพ่อค้าพวกนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากระแสการเลี้ยงปลาสวยงามยังมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นในควอเรียมของเอกชน ตู้ปลาขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง หรือแม้แต่ตู้ปลาตามบ้าน ทำให้การลักลอบจับปลาสวยงามในทะเลมีมากขึ้น
 
          นายไมตรี กล่าวว่า ขณะนี้ ทช.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมออกระเบียบควบคุมอควอเรียมแล้วโดยเบื้องต้นคิดว่าจะต้องกำหนดให้อควอเรียมทุกแห่งต้องมีนักวิชาการทางทะเลมาประจำ เพื่อจะได้ดูแลปลาทะเลได้ถูกต้องมากขึ้น เพราะขณะนี้ปลาที่นำมาโชว์ส่วนมากจะตายในระยะ 2 - 3 วัน เนื่องจากกระบวนการจับปลาทะเลซึ่งชาวประมงส่วนใหญ่จะใช้ไซยาไนด์ไปหว่านจับปลา ทำให้ปลาเมา หรือบางแห่งใช้อวนเล็กไปล้อมปะการังรอบเพื่อต้อนปลาให้ติด แต่ทำให้ปะการังหักและเสียหายอย่างมาก ซึ่งเร็ว ๆ นี้ทาง ทช.จะออกไปสุ่มตรวจตู้ปลาขนาดใหญ่ที่เปิดตามห้างสรรพสินค้าว่าได้มาตรฐานและลักลอบนำหญ้าทะเลปลาทะเลหายากมาโชว์หรือไม่
 
          อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระแสความนิยมบริโภคปลาทะเล กุ้งมังกรสด ๆ ในร้านอาหารที่นำไปใส่ไว้ตามตู้เพื่อให้ผู้บริโภคมาเลือกไปปรุงอาหารกำลังมีมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารทะเล ภัตตาคาร ซึ่งเป็นห่วงผู้บริโภคที่อาจไม่รู้ว่าปลาทะเลพวกนี้อาจจะมีสารปฏิชีวนะจำพวกคลอแรม และยาเหลืองตกค้างอยู่ เนื่องจากผู้ขายจะใส่ยาพวกนี้ลงไปในปริมาณมาก ๆ เพื่อฆ่าเชื้อและให้ปลาอยู่ได้นานจนกว่าจะมีผู้บริโภคมาชี้ไปปรุงอาหาร ทั้งนี้ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปสุ่มตรวจสารปนเปื้อนที่ตกค้างในเนื้อปลาเนื้อกุ้งตามร้านอาหารเหล่านี้เพื่อสนองนโยบายอาหารปลอดภัยที่รัฐบาลกำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ 
 
          "ขณะนี้ต่างประเทศได้ห้ามการใช้ยาคลอแรมแล้ว เพราะถ้าเป็นยาที่หมดอายุแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอันซีนเบื้องหลังของจริง แต่ กรมฯอยากจะเตือนผู้บริโภคว่าอย่ามองว่าปลากุ้งเหล่านี้เป็นของสด เพราะอาจจะแฝงด้วยอันตรายที่คาดไม่ถึง โดยอาจจะสังเกตจากปลาที่มักจะมีตาโปน ซึมและน้ำในตู้เป็นสีเหลืองควรหลีกเลี่ยง” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=2000000046724
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ