Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








อันตรายจากไวน์ปลอม ภัยแฝงของคนชอบจิบ ...

15 มิ.ย. 2549

         กระทรวงสาธารณสุขเตือนคอไวน์ทั้งหลายพึงระวังไวน์ปลอม ซึ่งเกิดจากการแข่งขันทางการค้าโดยหวังผลกำไรอย่างเดียว ชี้อันตรายรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมย้ำหากมีอาการอาเจียน มึนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์ทันที
 
นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากข้อมูลรายงานการสอบสวนโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 มีรายงานผู้ป่วยจากจังหวัดชลบุรีเนื่องจากดื่มไวน์จำนวน 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยเป็นเพศชาย 10 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 21 – 52 ปี และต่อมาในเดือนมีนาคม 2547 ก็มีรายงานผู้ป่วยจากจังหวัดนครปฐม 2 ราย เป็นเพศชาย อายุ 15 ปี และหญิงอายุ 72 ปี
 
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยที่พบหลังจากการดื่มไวน์ คือ อาเจียน มึนศีรษะ และหมดสติ ซึ่งผลจากการสอบสวนทางระบาดวิทยา ประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สรุปได้ว่าสาเหตุเกิดจากสาร Gramma Butyrolactone (GBL) ที่มีอยู่ในไวน์ปลอม
 
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นับเป็นสินค้าที่มีการโฆษณาและการแข่งขันที่รุนแรง โดยไวน์ก็นับเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งที่มีการโฆษณาในเชิงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเสนอเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น หนุ่มสาววัยทำงาน และคนในระดับชนชั้นกลางจนถึงชั้นสูง ส่งผลให้มีการนำเข้า
และบริโภคไวน์ในปริมาณเพิ่มขึ้น
 
"บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การดื่มไวน์เป็นการบริโภคเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคซึ่งทำให้แนวโน้มของปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จนถึงการเสพติดเพิ่มขึ้น เนื่องจากแบบแผนในการบริโภคในแต่ละกลุ่มคน อาจจะแตกต่างกันไปแล้วแต่วัตถุประสงค์ ตามความรู้หรือข้อมูลที่ได้รับ โดยส่วนใหญ่มีเหตุผลในการดื่มเพื่อสุขภาพ รองลงมาเป็นการดื่มเพื่อผ่อนคลาย สนุกสนานเมื่อมีงานเลี้ยง สุดท้ายเป็นการดื่มเพื่อทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบริโภคแบบใด สิ่งที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึง คือ ปริมาณของการดื่มที่พอเหมาะและให้ประโยชน์แก่สุขภาพ” นพ.จรัล กล่าว
 
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากเรื่องปริมาณของการดื่มแล้ว สิ่งที่ควรระวังก็คือ ไวน์ที่ดื่มนั้นเป็นของปลอมหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันการแข่งขันกันในทางค้าขาย หากมีการหวังผลกำไรอย่างเดียว นอกจากจะให้ข้อมูลที่เกินความจริงแล้ว ยังอาจจะมีการทำของปลอมที่อาจผสมสารที่เกิดโทษแก่ร่างกายได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยประชาชนควรระมัดระวังในการดื่มไวน์และควรให้แน่ใจว่ามิใช่ของปลอม แต่ทั้งนี้ หากเกิดอาการดังกล่าว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
 
นอกจากนี้ สถานบริการทุกแห่งควรเฝ้าระวัง หากมีผู้ป่วยและเสียชีวิตกระทันหันโดยอธิบายสาเหตุไม่ได้ แพทย์ผู้รักษาควรนึกถึงพิษจากสารเคมีไว้ด้วย และให้ซักประวัติ อาการ ตรวจร่างกาย อย่างละเอียด และเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะจากผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาสารพิษ พร้อมทั้งแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบทันที ซึ่งการเก็บและส่งตรวจวัตถุตัวอย่าง สามารถส่งตรวจโดยตรงได้ที่กลุ่มงานพิษวิทยาและชีวเคมี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0-2591-0000 หรือ ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี โทรสายด่วน 1367 หรือ ประสานการส่งตรวจได้ที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-1882 , 0-2590-1779 
 
 
เว็บไซต์ที่มา :  http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=4736328408121
แหล่งที่มา     :  เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ