Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








การคุ้มครองผู้บริโภคด้านการขายตรงและตลาดแบบตรง

     29,164 views

        การคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น กล่าวได้ว่า ยังไม่เพียงพอในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าหรือรับบริการกับผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการในธุรกิจขายตรง ซึ่งเป็นวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเข้าถึงตัวผู้บริโภค โดยมีผู้ขายที่เรียกชื่อตามกฎหมายว่า ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงเป็นผู้นำสินค้าไปอธิบาย หรือสาธิตเกี่ยวกับสรรพคุณ คุณภาพของสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรงตามสถานที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ค้าขายตามปกติ ซึ่งวิธีการขายสินค้าในเชิงรุกเช่นนี้ ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงจะมีกลยุทธ์ในการแนะนำสินค้า รวมทั้งอาจมีการกล่าวอ้างสรรพคุณหรือคุณภาพของสินค้าหรือบริการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือเกินความจริง หรือใช้วิธีการกระตุ้น ให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคก็อาจถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่จำเป็น หรือต้องซื้อเพราะถูกแรงกดดันจากผู้ขาย ซึ่งการควบคุมปัญหาตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งนี้ เพราะการโฆษณาหรือชักชวนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะทำด้วยคำพูดและรับรู้เฉพาะผู้ซื้อ ผู้ขายเท่านั้น มาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ยังไม่ครอบคลุมที่จะเอาผิดแก่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงได้ นอกจากนี้ การซื้อสินค้าหรือบริการในธุรกิจขายตรงในปัจจุบัน เมื่อผู้บริโภคตกลงซื้อสินค้า หรือบริการแล้ว สัญญาซื้อขายก็ย่อมผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา แม้ว่าสัญญาซื้อขายจะเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ขายใช้กลยุทธ์และสร้างแรงกดดันให้แก่ผู้บริโภคในหลายรูปแบบ แต่การเลิกสัญญาก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากก็ไม่ให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการคืนสินค้า ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะแชร์ลูกโซ่หรือแบบพีระมิดที่แฝงเข้ามาในระบบธุรกิจขายตรง ซึ่งสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้นำมาใช้ในการแอบอ้างทำธุรกิจขายตรงส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคย โดยผู้ประกอบธุรกิจจะใช้วิธีการชักชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมเป็นเครือข่าย และสัญญาว่าจะให้ประประโยชน์ตอบแทนจากการชักจูงผู้อื่นให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเห็นว่าจะได้รับเงินหรือกำไรมากกว่าประโยชน์ที่ผู้นั้นได้จ่ายไป โดยไม่คำนึงถึงรายได้จากการขายสินค้า และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจระดมทุนได้ตามที่ต้องการแล้วก็จะเลิกล้มไป ผลเสียจะตกแก่ผู้ยบริโภค ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ทำให้มองภาพลักษณ์ของธุรกิจขายตรงไปในเชิงลบ และเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงที่สุจริตได้รับผลกระทบในการประกอบธุรกิจไปด้วย

        ส่วนการทำธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น จะไม่มีพนักงานขาย เพราะเป็นการขายสินค้า หรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เหล่านี้ ผู้บริโภคจึงไม่สามารถจับต้องสินค้าหรือเห็นรูปร่างลักษณะของสินค้าได้อย่างชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคในขณะนี้ ส่วนใหญ่พบว่าสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งซื้อมักจะไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างตามที่ได้โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และเมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิคืนสินค้าตามที่ผู้ประกอบธุรกิจให้คำรับประกันความพอใจก็ไม่ได้รับเงินคืน หรือได้รับเงินคืนล่าช้าเกินควร ปัญหาและความจำเป็นที่กล่าวมานี้ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดออกมากำกับดูแลการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงแม้ว่าขณะนี้จะได้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๔ มาใช้บังคับก็ยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด และเมื่อเกิดความเสียหายก็ไม่สามารถติดตามตัวผู้ประกอบธุรกิจมาลงโทษและช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อให้มีมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะออกมาควบคุมกำกับดูแลให้การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงดำเนินธุรกิจไปในวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสม และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้ว โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นไป 


แผนภูมิคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้น

ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕




        พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ ดังนี้

        ๑.  ในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องส่งมอบการซื้อขายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องเป็นภาษาไทย ระบุชื่อผู้ซื้อผู้ขายวันที่ซื้อขาย วันที่ส่งมอบ และสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญา (เฉพาะสิทธิเลิกสัญญาต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป) แต่ถ้าคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงเห็นว่า เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้น อันเนื่องมาจากราคาสินค้าหรือประเภทสินค้า คณะกรรมการฯ มีอำนาจเลิกสัญญา วิธีการคืนสินค้า การรับประกันสินค้า หรือการเปลี่ยนสินค้าในกรณีมีความชำรุดบกพร่องแต่ถ้าหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้จัดให้มีรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันผู้บริโภค

        ๒.  การซื้อสินค้าหรือบริการในธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงนั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ โดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาไปยังผู้ประกอบธุรกิจภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับสินค้าหรือบริการ แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานี้ไม่สามารถนำไปใช้กับสินค้าหรือบริการได้ทุกชนิด ขึ้นอยู่กับประเภท ราคา หรือชนิดของสินค้าหรือบริการ ซึ่งจะได้กำหนดในพระราชกฤษฎีกาต่อไป

        ๓.  เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว กฎหมายกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

             ๓.๑  ส่งคืนสินค้าไปยังผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือ ส่งคืนสินค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบ แล้วแต่กรณี

             ๓.๒  เก็บรักษาสินค้าไว้ภายในระยะเวลา ๒๑ วัน นับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา เมื่อพ้นกำหนดแล้วจะเก็บรักษาสินค้านั้นไว้หรือไม่ก็ได้และต้องส่งคืนเมื่อผู้ประกอบธุรกิจมาขอรับคืน ณ ภูมิลำเนาของผู้บริโภค แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจขอให้ผู้บริโภคส่งคืนทางไปรษณีย์ โดยเรียกเก็บเงินปลายทางภายในระยะเวลา ๒๑ วัน ผู้บริโภคต้องส่งคืนตามที่ผู้ประกอบธุรกิจร้องขอ และถ้าสินค้านั้นเป็นของใช้สิ้นเปลือง ผู้บริโภคมีหน้าที่คืนเฉพาะส่วนที่เหลือจากการใช้ก่อนใช้สิทธิเลิกสัญญา สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคืนสินค้าและบริการเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ๔.  ถ้าเป็นความผิดของผู้บริโภคทำให้สินค้านั้นสูญหายหรือบุบสลาย หรือไม่สามารถคืนสินค้าแก่ผู้ประกอบธุรกิจได้ ผู้บริโภคต้องชดใช้ค่าเสียหาย เว้นแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติจากการเปิดประกอบหรือผสมเพื่อใช้สินค้านั้น

        ๕.  เมื่อผู้บริโภคได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามกฎหมายแล้ว ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรงผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปภายในกำหนดเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา แต่ถ้าไม่คืนเงินภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องเสียเบี้ยปรับตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

        ๖.  คำรับประกันสินค้าต้องทำเป็นภาษาไทย และระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิตามคำรับประกันให้ชัดเจน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับคำรับประกัน คณะกรรมการจะไปพิจารณาออกเป็นประกาศเรื่องนี้ ต่อไป


( )