Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านฉลาก

        การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านฉลากสินค้าเป็นเรื่องที่รัฐออกกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ โดยผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อหรือใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย เป็นธรรมและประหยัด ดังนั้น ข้อความที่ปรากฎในฉลาก กฎหมายจึงกำหนดให้ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริงและไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และให้ใช้ข้อความตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ความหมายของ "ฉลาก" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒
        คำว่า "ฉลาก" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้หมายความถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฎข้อความเกี่ยวกับสินค้าซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และหมายความรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้าป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้น
        ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กำหนดให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
        ๑.  กำหนดสินค้าดังต่อไปนี้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
             ๑.๑  สินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพร่างกายและจิตใจ เนื่องในการใช้สินค้าหรือโดยสภาพของสินค้านั้น
             ๑.๒  สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น
        ๒.  กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การจัดทำฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าว ต้องใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ได้แก่ ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนแล้วในประเทศไทย ชื่อสินค้า ประเทศที่ผลิต ราคา ปริมาณ วิธีใช้ คำแนะนำ คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด
        ๓.  คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขฉลากที่ไม่ถูกต้อง หรือเลิกใช้ฉลากที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดนั้นได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยการฝ่าฝืน ในการนี้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากยังมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการชั่วคราวในการบังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนด หรือคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากตามที่เห็นสมควร สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับ
        ๔.  เพื่อเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นว่าฉลากของผู้ประกอบธุรกิจมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือรายละเอียดที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดหรือไม่ ในเมื่อผู้ประกอบธุรกิจนั้นขอให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยฉลากจะต้องให้ความเห็นและแจ้งให้ผู้ขอทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการว่าด้วยชอบแล้ว แต่การให้ความเห็นดังกล่าวไม่ตัดอำนาจคณะกรรมการว่าด้วยฉลากที่จะพิจารณาวินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่น เมื่อมีเหตุอันสมควร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำไปตามความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ถ้าภายหลังคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเห็นว่าความเห็นเดิมไม่ถูกต้องและได้วินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่น เมื่อมีเหตุอันสมควร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำการไปตามความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ถ้าภายหลังคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเห็นว่าความเห็นเดิมไม่ถูกต้องและได้วินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่น
        ๕.  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจหน้าที่จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย นอกจากนี้ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ยังมีอำนาจที่จะสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดส่งเอกสาร หรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้ร้องทุกข์หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคมาพิจารณาได้ ในการนี้จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้
        ๖.  นอกจากอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว คณะกรรมการว่าด้วยฉลากยังมีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ควบคุมในเรื่องฉลาก เช่น กฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง เป็นต้น อำหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากในข้อนี้จึงเป็นการอุดช่องว่างกฎหมายต่างๆ เหล่านี้

แนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
        หลักเกณฑ์หรือแนวทางในการพิจารณากำหนดสินค้าที่ควบคุมฉลากของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มีดังนี้
        ๑.  เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
        ๒.  เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
        ๓.  เป็นสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ หรือเป็นสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจเนื่องจากการใช้สินค้านั้นหรือโดยสภาพของสินค้า
        ๔.  เป็นสินค้าที่ยังไม่มีกฎหมายอื่นใดควบคุม
        ๕.  การจัดทำฉลากสินค้า ต้องใช้ข้อความเป็นภาษาไทย ติดหรือปิดไว้ที่ตัวสินค้า หรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า ให้ผู้บริโภคเห็นและอ่านได้ชัดเจน และรวมถึงทำเป็นเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้น
        ๖.  การระบุฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องใช้ข้อความที่ตรงกับข้อเท็จจริงของสินค้าและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพและคุณภาพของสินค้าดีงนี้
           (๑)  ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร กรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย
           (๒)  ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย
           (๓)  ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
           (๔)  สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี
           (๕)  ต้องแสดงปริมาณ หรือขนาด หรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้านั้น แล้วแต่กรณี
           (๖)  ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด เช่น ใช้ทำความสะอาดพื้นไม้หรือพื้นกระเบื้อง ภาชนะเคลือบใช้ตั้งบนเตาไฟ ใช้เข้าไมโครเวฟ ใช้เก็บอาหารในตู้เย็น เป็นต้น
           (๗)  ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้เพื่อความถูกต้องในการใช้ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค เช่น ห้ามใช้ของมีคมกับการแซะน้ำแข็งในตู้เย็น
           (๘)  คำเตือน (ถ้ามี)
           (๙)  วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อนวันเดือนปีที่ระบุนั้น เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น (ถ้ามี)
           (๑๐) ราคา โดยระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่นด้วยก็ได้
        ๗.  สินค้าที่ควบคุมฉลากจากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย ต้องจัดทำฉลากเป็นข้อความภาษาไทยให้มีความหมายตรงกับข้อความในภาษาต่างประเทศ โดยระบุชื่อพร้อมสถานที่ประกอบการของผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าสินค้านั้น และต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
        ๘.  การจัดทำฉลาก ต้องไม่ใช้ข้อความ ดวงตรา หรือเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีสิทธิใช้มาระบุที่ฉลากของสินค้า เนื่องจากอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้า เช่น
           (๑)  ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นโดยที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีสิทธิใช้
           (๒)  เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของต่างประเทศที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีสิทธิใช้
           (๓)  ธงชาติ ดวงตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าว
           (๔)  ข้อความอื่นใดที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิดหรือคุณภาพของสินค้า
        ๙.  การจัดทำฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถจัดทำฉลากตามหลักเกณฑ์ สามารถยื่นขอผ่อนผันการจัดทำฉลากต่อคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเพื่อพิจารณาได้ ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยฉลากพิจารณาผ่อนผันการจัดทำฉลากให้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้วางแนวทางไว้

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่ควบคุมฉลาก

        การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากยี่ห้อ สีสันรูปแบบที่สวยงามแปลกตาของสินค้า หรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อของสินค้าเป็นหลัก จึงทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าที่อาจไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานและไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของสินค้า หรือไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้
        ดังนั้น การเลือกซื้อสินค้าให้ได้สินค้าตามที่ผู้บริโภคต้องการ จึงควรพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังนี้
        ๑.  ผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียดฉลากของสินค้า เช่น สถานที่ประกอบการหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต หรือผู้สั่ง หรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายชนิดของสินค้า ราคา วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบของสินค้าวิธีการใช้ วิธีการเก็บรักษา คำแนะนำและคำเตือนหรือข้อควรระวังเกี่ยวกับสินค้า เพื่อเป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหนึ่งสินค้าใด
        ๒.  ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ และคุณภาพของสินค้าจากผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้าที่จำหน่ายสินค้านั้น หรือกับผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นแล้ว ก่อนพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง
        ๓.  ศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไข หรือข้อจำกัดของสินค้า เช่น วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุวิธีการใช้ การเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อควรระวังของสินค้าให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประหยัด
        ๔.  ตรวจดูสภาพ คุณภาพ และปริมาณของสินค้าว่าเป็นจริงตรงตามที่ระบุไว้ที่ฉลากของสินค้าใหม่หรือไม่ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

( )