Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








อำนาจและหน้าที่

28 มี.ค. 2562

          สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นส่วนราชการระดับกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอำนาจ และหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ๑๐ ประการ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ดังนี้

          ๑. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาต่อไป ผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับอันตรายอันเนื่องมากจากการใช้สินค้าหรือบริการสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ อาคารรัฐประศาสนภักดี ขั้น ๑ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครฯ ๑๐๒๑๐ หรือติดต่อขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วน สคบ. โทร ๑๑๖๖ และช่องทางออนไลน์ที่แอปพลิเคชัน OCPB Connect หรือ https://www.ocpb.go.th/ การร้องเรียนหรือการสอดส่องและแจ้งเบาะแสมายัง สคบ. นั้น เป็นสิทธิที่ผู้บริโภคพึงกระทำได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีจิตสำนึกและไม่กระทำการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภค และประการสำคัญ คือ เป็นการช่วยให้ สคบ. ทราบปัญหาของผู้บริโภคและสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยในการบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคนั้น สคบ. มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และกองกฎหมายและคดี โดยผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องอดทน ต่อความไม่ปลอดภัยหรือการเอารัดเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้บริโภคทุกท่านมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

          ๒. ติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้า หรือ บริการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรและจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมีการเสนอขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก โดยใช้วิธีการและเทคนิคใหม่ ๆ ในทางการตลาด และทางการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย โดยทั่วไปผู้บริโภคไม่อาจทราบภาวะตลาดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง สคบ. จึงต้องมีบทบาทในการติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ และดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินคดี ทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางอาญาและมาตรการแพ่ง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมตามสมควร

          ๓. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมตัวกันของผู้บริโภคในการจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค และส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาสิทธิของผู้บริโภคตามแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค โดยการสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค

          ๔. แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือถูกละเมิดสิทธิแก่ประชาชน

          ๕. สนับสนุนหรือทำการศึกษาและวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่น เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ๖. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาแก่ผู้บริโภคในทุกระดับการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายที่อาจได้รับจากสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีความรู้และความเข้าใจในปัญหา ตลอดจนวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงและสามารถคุ้มครองตนเองในเบื้องต้นได้สมอ

          ๗. ดำเนินการเผยแพร่วิชาการ และให้ความรู้และการศึกษาแก่ผู้บริโภค เพื่อสร้างนิสัยในการบริโภคที่เป็นการส่งเสริมพลานามัย ประหยัด และใช้ทรัพยากรของชาติให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร เอกสาร บทความ ข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และสื่อออนไลน์ของ สคบ. ได้แก่ www.ocpb.go.th, Facebook, Youtube, Instagram, Twitter, Tiktok, Pantip และ Official line OCPB CONNECT เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจ เป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทุกด้าน ในการดำรงชีวิตประจำวัน

          ๘. ประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุม ส่งเสริมหรือกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการ สคบ. มีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และกองกฎหมายและคดี โดยการประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่น เพื่อบูรณาการร่วมปฏิบัติงาน ในการกำหนดนโยบายและในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น

               - สินค้าที่เป็นอันตราย เป็นต้นว่า อาหารผสมสีย้อมผ้า อาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารมีสารบอแรกซ์เจือปน จะประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสอบ หรือการไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า ข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมาย

               - สินค้าที่ไม่ใด้คุณภาพมาตรฐาน เป็นต้นว่า การใช้เครื่องชั่ง ตวงวัด เอาเปรียบผู้บริโภคในทางการค้าหรือการไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า จะประสานกับกรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมาย

          ๙. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมาย

               ๙.๑ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องแต่งตั้งโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริง การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน การรวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ การวินิจฉัยข้อกฎหมาย พร้อมเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการในเรื่องนั้น ๆ ทั้งในเรื่องการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมข้อพิพาท การยกร่างประกาศ คำสั่งระเบียบต่าง ๆ การพิจารณาดำเนินคดี การพิจารณาข้อกฎหมาย รวมทั้งการพิจารณาในการออกคำสั่งทางปกครอง และกฎ

               ๙.๒ การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติขายตรงและลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ รวมทั้งการดำเนินคดีอาญา และการเปรียบเทียบผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย

               ๙.๓ การดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค

               ๙.๔ การดำเนินคดีละเมิดสิทธิผู้บริโภค แทนผู้บริโภคในศาล รวมทั้งการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพาทษา

               ๙.๕ การให้ความเห็น การตอบข้อเท็จจริง การให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานกับหน่วยหรือองค์กร ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคผู้ประกอบธุรกิจในการคุ้มครองผู้บริโภค

               ๙.๖ ปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การรับรองสมาคมหรือมูลนิธิให้มีสิทธิและอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างเครือข่าย การจัดทำฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภค การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          ๑๐. ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจโฆษณา

คำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้ประชาชนทราบ

          ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง หรือเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าดำเนินการแทนผู้ประกอบธุรกิจ ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับรายละเอียดการไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งและการเข้าดำเนินการแทนผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวให้ประชาชนทราบ โดยให้โฆษณาได้ทั้งในระหว่างดำเนินการและภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จ

          การโฆษณาคำพิพากษาดังกล่าว ให้กระทำทางสื่อโฆษณาและสื่อรูปแบบอื่นตามที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด โดยจะระบุชื่อผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยก็ได้

          สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ดังนี้

             ๑. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง และคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงแต่งตั้ง โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริง การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน การรวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ การวินิจฉัยข้อกฎหมาย พร้อมเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการขายตรงและตลาดแขบตรง และคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงแต่งตั้งในเรื่องการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค การแจ้งโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการต่าง ๆ การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ การออกระเบียบหรือประกาศ

             ๒. ทำหน้าที่ในการรับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ตรวจสอบกลั่นกรองเสนอความเห็นต่อนายทะเบียน ซึ่งได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการจดทะเบียนดังกล่าว

             ๓. ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด หรือฝ่าฝืนกฎหมายและเปรียบเทียบความผิด

             ๔. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย เช่น การเจรจาไกล่เกลี่ย หรือการดำเนินคดีละเมิดสิทธิผู้บริโภค




( )