Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








สวมรอยหลอกซื้อบ้าน โจรอสังหาฯ เชิดเงินหาย

11 ก.พ. 2554

            ใครๆ ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่างฟันฉับๆ คอนโดมิเนียม อาคารชุด รวมถึงทาวน์เฮาส์ ปีนี้มีแววรุ่งเฉพาะคอนโด ซึ่งมีทำเลที่ติดกับรถไฟฟ้านี่ เป็นเงินเป็นทองผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด จนกลัวว่าฟองสบู่จะแตกเสียจริงๆ
 
            ชีวิตมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวงของคนคนหนึ่งนั้น กว่าจะมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง ต้องคัดแล้ว เลือกอีก ที่ว่าคัดสุดๆ ก็มิวายมีกรณีที่ถูกหลอก "ซื้อบ้านแต่ไม่ได้บ้าน” อยู่มากโข

            ไม่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น กลุ่มมิจฉาชีพไม่หวังดีมักฉวยโอกาสออกมาหากินโดยการหลอกขายบ้านในโครงการร้างให้กับเหยื่อที่หลงเชื่อ ที่สำคัญคือมีผู้ตกเป็นเหยื่อมาแล้วทุกจังหวัด

             อย่างกรณีโครงการบ้านแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา เป็นโครงการที่ได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ เนื่องจากเจ้าของโครงการเผ่นหนีหนี้ไปก่อน ว่ากันตามตรงก็คือประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้งสิ้นเนื้อประดาตัวเป็นแถบๆ

              ระหว่างที่บ้านยังสร้างค้างๆ คาๆ ตามสัญญาที่ผู้ซื้อต้องกู้ธนาคารมาวางมัดจำ วางเงินดาวน์ ให้กับโครงการ ทำให้ผู้ซื้อบางรายได้ทยอยจ่ายเงินค่างวดไปหลายปีจนหมด แต่ปัญหาก็คือยังไม่สามารถโอนบ้านให้เป็นของตัวเองได้ เพราะโครงการกลายเป็นบ้านร้างไปแล้ว ซึ่งทางธนาคารได้ทำการยึดทรัพย์และฟ้องร้องต่อศาล

              ขณะที่ศาลกำลังดำเนินกระบวนการตามกฎหมายอยู่นั้น ปรากฏว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพได้เข้ามาหลอกลวงชาวบ้านว่าได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้โครงการ เพื่อมอบหมายให้มาทำการขายบ้านให้กับชาวบ้านที่สนใจ โดยเก็บค่าขายหลังละ 23 หมื่นบาท แค่นี้ก็สามารถเข้าไปทำการต่อเติมและเข้าอยู่ได้เลย ที่เป็นคดีความกันขึ้นมาก็เพราะหลงเสียรู้กันมาอยู่หลายรายเลยทีเดียว

              หากกระบวนการทางศาลสิ้นสุดลง เจ้าของเดิมที่ได้ทำการจองซื้อไว้และมีสัญญาที่ถูกต้องก็จะเข้ามาอาศัย (จะได้อยู่หรือเปล่าไม่รู้) โดยชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องและเข้าไปอยู่ทีหลัง (ซึ่งไม่น่าจะได้อยู่แน่นอน) จะเดือดร้อนที่ต้องเสียเงิน เสียเวลา กว่าจะรู้ว่าถูกหลอก พวกโจรห้าร้อยนี้ก็อาศัยช่วงชุลมุนหายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว

              คอนโดในกรุงเทพฯ เองก็เคยปรากฏกรณีที่ผู้ซื้อได้ยื่นฟ้องเจ้าของโครงการสุดหรูแห่งหนึ่ง ยืดยาวจนมีการยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้พิจารณาเป็นคดีพิเศษมาแล้ว

              สอบถามไปยัง นายนพปฎล เมฆเมฆา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า เท่าที่ผ่านมาการต้มตุ๋นในลักษณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนมายัง สคบ.

              "คนคิดจะโกงชาวบ้านก็หารูปแบบ วิธีการสารพัด ส่วนราชการไม่มีทางทราบล่วงหน้า ตามไม่ทัน ซึ่งกรณีอย่างนี้ถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน ที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งดีเอสไอ หรือตำรวจในท้องถิ่นให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้”
               "การจะซื้อบ้าน คอนโด ตรวจสอบได้ไม่ยาก ให้ดูที่โครงการขายแล้วสอบถามมายัง สคบ. ว่ามีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องอะไร มากน้อยอย่างไร รวมทั้งตรวจสอบไปยังสำนักงานที่ดิน หรือธนาคารก็ได้”
 
                 นายนพปฎล มองว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมรับข้อมูลที่เชื่อคนง่าย ทำให้เกิดการต้มตุ๋นเป็นประจำ การตัดสินใจซื้อด้วยทุนทรัพย์ที่ค่อนข้างสูงนั้น บางทีก็ไม่ได้ตรวจสอบ บางครั้งก็ไว้ใจคนขาย หรือไม่มีเวลาตรวจสอบ ตรงนี้คือการขาดความรอบคอบ
 

( )