Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








คคบ.​ ลงดาบผู้ประกอบธุรกิจ​ละ​เมิดสิทธิ​ผู้บริโภค​ เรียกเงินคืนกว่า​ 1,800,000 บาท

25 ต.ค. 2566


คคบ. ปกป้องผู้บริโภค สั่งเรียกคืนเงินเหยื่อผู้ประกอบการละเมิดสิทธิกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาท

วันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร  ชุนละเอียด) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร

จากการประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๖ เรื่อง (ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคาร  ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้าน  ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด  ทำสัญญาจ้างต่อเติมหลังบ้าน  ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน) และดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๑๔ เรื่อง (สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่ผู้ขายไม่ได้ส่งมอบสินค้า สั่งซื้อแท็บเล็ตใช้แล้ว  ผลิตประตูไม้สักบานเลื่อน  สั่งซื้อซิมเทพ ธอร์ package Internet สั่งซื้อต้นกุหลาบ ๕ ต้น สั่งซื้อชุดเดรสยาว ๒ ชุด ว่าจ้างทำชุดครัวพลาสวูดครัวทนน้ำ ซื้อรถยนต์ ทำสัญญาซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง  ทำสัญญาจองรถยนต์ใช้แล้ว ว่าจ้างทำระเบียงกระจกและกันสาดพร้อมติดตั้ง สั่งอาหารคลีนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ซื้อรถยนต์ ทำสัญญาจ้างจัดดอกไม้) รายละเอียด ดังนี้

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๖ เรื่อง

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (คอนกรีตเสริมเหล็ก) กับผู้รับจ้าง รายหนึ่ง  ในราคา ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท โดยผู้บริโภครู้จักผู้รับจ้างจากแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน ๑๕๙ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ตกลงชำระเงินค่าจ้างจำนวน ๕ งวด ผู้บริโภคชำระเงินถึงงวดที่ ๔ บางส่วน รวมจำนวน ๑,๐๐๓,๔๐๐ บาท แต่ผู้รับจ้างก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้บริโภคจึงมีหนังสือทวงถามหลายครั้ง และมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีความประสงค์เรียกเบี้ยปรับตามสัญญาวันละ ๑,๗๐๐ บาท (หลังจากวันบอกเลิกสัญญา) เป็นเวลา ๑๔๙ วันเป็นเงินจำนวน  ๒๕๓,๓๐๐ บาท ค่าเช่าบ้าน ๒,๐๐๐ บาท ชำระค่าเสียหายกรณีก่อสร้างรั้วกำแพง ๑๕,๐๐๐ บาท จากการพิจารณาการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย  ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบฐานะเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน  มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ว่าจ้างและห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เพื่อบังคับให้ร่วมกันชำระค่าปรับจำนวน ๒๓๙,๗๐๐ บาท และคืนเงินค่าเช่าบ้าน จำนวน ๒,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายกรณีก่อสร้างรั้วกำแพง จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๕๖,๗๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านพักอาศัย ๒ ชั้น กับบริษัทแห่งหนี่ง ในราคา ๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลาก่อสร้าง ๒๔๐ วัน ผู้บริโภคชำระเงินค่างวดไปแล้ว ๓ งวด จำนวน ๑,๑๕๐,๐๐๐ บาท แต่บริษัทฯ ทิ้งงาน ผู้บริโภคจึงแจ้งยกเลิกสัญญาและให้บริษัทฯ คืนเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แต่บริษัทฯ คืนเงินให้ผู้บริโภคเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ให้บริษัทฯคืนเงินอีกจำนวน ๒๗๐,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทฯ กับผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริโภค ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งบริษัทฯ ตกลงคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๒๗๐,๐๐๐ บาท ผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ ๑๕,๐๐๐ บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีผู้บริโภค แต่เมื่อถึงระยะเวลาดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์เรียกร้องเงินคืนตามบันทึกข้อตกลง เมื่อบริษัทฯ ไม่คืนเงินให้ตามบันทึกข้อตกลง จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทดังกล่าว เพื่อบังคับให้คืนเงินตามบันทึกข้อตกลงจำนวน ๒๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการ ราคา ๒,๐๓๔,๐๐๐ บาท กับบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญา จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท เงินดาวน์ ๑๗ งวด จำนวน ๑๕๑,๓๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๐๑,๓๐๐ บาท แต่บริษัทฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน จากการพิจารณาถือว่าบริษัทฯ กระทำการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทดังกล่าว  เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๒๐๑,๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจ้างต่อเติมหลังบ้านพร้อมครัวกับผู้รับจ้างรายหนึ่ง ในราคา ๑๙๔,๕๐๐ บาท แบ่งชำระ ๕ งวด โดยผู้บริโภคได้ชำระเงินไปแล้วจำนวน ๔ งวด และงวดที่ ๕ ชำระล่วงหน้าจำนวน ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑๘๕,๐๐๐ บาท  มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน  แต่เมื่อถึงกำหนดพบว่างานยังไม่แล้วเสร็จและดำเนินการไม่เรียบร้อยหลายจุด ผู้รับจ้างได้ทิ้งงานไป ผู้บริโภคจึงได้จ้างบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ และมีความประสงค์ให้ผู้รับจ้างชำระค่าปรับเนื่องจากผิดสัญญา จากการพิจารณากรณีดังกล่าวเห็นว่าผู้รับจ้างจงใจละทิ้งงาน โดยรู้อยู่แล้วว่าการดำเนินการต่อเติมหลังบ้านพร้อมครัวยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งไม่ควรปฏิบัติดังผู้มีวิชาชีพเช่นว่านั้น เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้รับจ้าง เพื่อบังคับให้ชำระเบี้ยปรับตามสัญญาจำนวน ๙๗,๒๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้รับมอบอำนาจแทนผู้บริโภค แจ้งว่าได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สามชั้น (มีชั้นลอย) กับบริษัทแห่งหนึ่งในราคา ๑๐,๙๐๐,๐๐๐ บาท  ผู้บริโภคแจ้งว่าเป็นการรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านก่อนการตรวจรับมอบ ต่อมาหลังรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้บริโภคแจ้งรายการ Defect ให้บริษัทฯ แก้ไขหลายรายการ รวมถึงความเสียหายของพื้นกระเบื้องชั้น ๑ และบริษัทฯ แก้ไขแล้วคงเหลือเพียงพื้นกระเบื้องชั้น ๑ ผู้บริโภคจึงว่าจ้างบุคคลภายนอกประเมินราคาการแก้ไขพื้นกระเบื้องดังกล่าว ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์เรียกร้องตามราคาประเมินจำนวน ๒๔๑,๓๓๒.๐๘ บาท พร้อมทั้งเรียกร้องค่าเช่าที่พักอาศัยระหว่างซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งค่าตกแต่งภายในและการติดตั้งอุปกรณ์บิวท์อิน จากการพิจารณาตามใบประเมินราคาของบริษัทภายนอก จำนวน ๒๔๑,๓๓๒.๐๘ บาท ซึ่งในฐานะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการประเมินราคาจึงมีความเหมาะสมและรับฟังได้ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ปฏิเสธการแก้ไขซ่อมแซมพื้นกระเบื้อง การกระทำของบริษัทฯ ที่ปฏิเสธการซ่อมแซมจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และกรณีการเช่าที่อยู่อาศัยระหว่างซ่อมแซม ไม่ได้มีการตกลงและบริษัทฯ ไม่เคยทราบ
มาก่อน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้บริโภคไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนในการบอกกล่าวเรื่องการเช่าที่อยู่อาศัย
จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ มติที่ประชุม  เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทดังกล่าว เพื่อบังคับ
ให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมบ้านในส่วนของงานพื้นกระเบื้องชั้น ๑ หากบริษัทฯ ปฏิเสธหรือไม่สามารถดำเนินการได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายตามใบประเมินราคาของผู้บริโภค เป็นเงินจำนวน ๒๔๑
,๓๓๒.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโครงการ กับบริษัทแห่งหนึ่ง ผู้บริโภคเข้าอยู่อาศัยแล้วพบว่ากระจกรอบห้องชุดเป็นรอยขีดข่วน มีรอยสะเก็ด จากการพิจารณาจึงให้บริษัทฯ เปลี่ยนกระจกใหม่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาประเมินจำนวน ๑๗๙,๖๑๐.๒๐ บาท รวมถึงค่าแรง พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะนิติบุคคลของบริษัท ฯ ว่า บริษัทฯ มีการจดทะเบียนเลิกกิจการ ต่อมาได้รับข้อมูลเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้ถือหุ้นและรายละเอียดการแบ่งชำระมูลค่าหุ้นให้กับผู้ถือหุ้น จำนวน ๔ คน ซึ่งขณะนั้นบริษัทฯ ยังไม่เสร็จสิ้นการชำระบัญชี และเมื่อมีเรื่องร้องเรียนบริษัทฯ ได้มอบอำนาจให้บุคคลมาให้ถ้อยคำและมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง  จึงถือว่าบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ามีเรื่องอยู่ระหว่างร้องเรียน แต่บริษัทฯ ก็ยังแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้ชำระบัญชีดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเลิก และชำระบัญชีแสดงงบการเงินว่าไม่มีเจ้าหนี้รายใดของผู้บริโภคค้างอยู่ แม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องหรือมีคำพิพากษาแสดงว่าบริษัทฯ เป็นหนี้ผู้บริโภค กระทำการดังกล่าว ซึ่งจะ
มีผลทำให้บริษัทฯ ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่ผู้บริโภค หากศาลพิพากษาให้ผู้บริโภคชนะคดี ถือได้ว่าบริษัทฯ ดำเนินการโดยไม่สุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี จงใจปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทดังกล่าว ร่วมถึงผู้ชำระบัญชีเพื่อบังคับให้ร่วมกันเปลี่ยนกระจกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามราคาประเมิน จำนวน ๑๗๙
,๖๑๐.๒๐บาท

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ รวมจำนวน ๑๔ เรื่อง

กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ ๔ รายการกับบริษัทแห่งหนึ่ง ผ่านเฟซบุ๊ก ได้แก่ ตู้โชว์แบบ ๓ ชิ้น ราคา ๒,๕๐๐ บาท โต๊ะทานข้าวแบบ ๖ ชิ้น ราคา ๓,๐๐๐ บาท โต๊ะเครื่องแป้ง ราคา ๒,๖๐๐ บาท  เซทห้องนอนแบบ ๖ ชิ้น ขนาดเตียง ๓.๕ ฟุต ฟรีราง ราคา ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๑๐,๑๐๐ บาท ผู้บริโภคชำระเงินครบถ้วนแล้ว โดยการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร แต่ผู้ขายไม่ได้ส่งมอบสินค้าทั้ง ๔ รายการ ให้แก่ผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเงินทั้งหมดคืน จากการพิจารณา บริษัทฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งหมด เมื่อไม่คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทดังกล่าวและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงิน ทั้งหมดจำนวน ๑๐,๑๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อแท็บเล็ตใช้แล้ว ยี่ห้อ ซัมซุง รุ่น S๒ ในราคา ๑,๑๐๐ บาท กับเว็บไซต์แห่งหนึ่ง  กำหนดชำระเงินปลายทาง โดยพนักงานบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้า ผู้บริโภคจึงชำระเงินให้แก่บริษัทขนส่งผ่านระบบ Internet Banking  เมื่อเปิดกล่องพัสดุพบว่า ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ จึงได้ติดต่อผู้ขาย พร้อมแนบภาพถ่ายสินค้าที่ผู้บริโภคได้รับแจ้งให้ผู้ขายทราบผ่านเว็บไซต์ของผู้ขาย แต่ปรากฏว่า ผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้จึงได้แจ้งให้บริษัทผู้ขนส่งอายัดเงิน แต่บริษัทผู้ขนส่งไม่คืนเงินให้จึงมีความประสงค์ขอเงินคืน และจากการตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบแท็บเล็ตให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภค  แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ส่งแท็บเล็ตไม่ใช่รุ่นที่ผู้บริโภคสั่งซื้อ ซึ่งไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ จึงไม่เป็นไปตามข้อตกลงและต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งหมด ส่วนบริษัทขนส่ง มีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปยังผู้บริโภคและรับชำระเงิน จึงอยู่ในฐานะผู้ขนส่งกับผู้รับสินค้าปลายทาง มิใช่จากสัญญาซื้อขายแท็บเล็ตพิพาท จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทขนส่งคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคได้  มติที่ประชุมเห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินทั้งหมดจำนวน ๑,๑๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคได้สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง ผลิตประตูไม้สักบานเลื่อนสองฝั่งพร้อมวงกบและทำสี ในราคา ๑๒,๕๐๐ บาท ผ่านช่องทางออนไลน์  ซึ่งผู้บริโภคได้ชำระเงินมัดจำจำนวน ๖,๐๐๐ บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชี ส่วนที่เหลือจะชำระในวันส่งมอบ แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ส่งมอบประตูไม้สักเลื่อนสองฝั่งพร้อมวงกบและทำสีให้แก่ผู้บริโภค และได้ติดตามทวงถามการผลิตเรื่อยมา แต่ได้รับการผัดผ่อนการส่งมอบหลายครั้ง จึงมีความประสงค์ขอเงินมัดจำทั้งหมดคืน อีกทั้งเห็นว่าได้มีการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จตามที่ตกลงกันไว้ จึงแจ้งยกเลิกการทำวงกบและขอให้ส่งมอบประตูไม้สักทั้ง ๒ บาน พร้อมแจ้งหมายเลขพัสดุการขนส่ง แต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้แจ้งหมายเลขพัสดุในการขนส่งให้ผู้บริโภคทราบ และไม่ปรากฏหลักฐานหรือพฤติการณ์ว่าได้ส่งมอบประตูไม้สักให้แก่ผู้ขนส่ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ว่าจ้างให้ และผู้บริโภคได้กำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายในเวลาพอสมควรแล้ว เมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้คืนเงินแก่ผู้บริโภคจึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๖,๐๐๐ บาท พร้อดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจ จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อซิมเทพ ธอร์ package Internet รายปี เครือข่าย TrueMove H หมายเลข จำนวน ๑ ซิม ราคา ๑,๓๙๐ บาท ผ่านเฟซบุ๊กไม่ทราบชื่อ โดยเลือกชำระเงินแบบปลายทาง ผู้บริโภคได้รับสินค้าจากบริษัทขนส่งแห่งหนี่ง ระบุชื่อผู้จัดส่ง "MAXISIM SPEED” เมื่อได้ตรวจสอบสินค้าพบว่า เป็นซิม package Internet จำนวน ๓๐ วัน ราคา ๔๙ บาท ซึ่งที่ไม่ตรงกับที่ผู้บริโภคสั่งซื้อ จึงมีความประสงค์ให้คืนเงินทั้งหมด จากการตรวจสอบพบว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ส่งสินค้าซึ่งพฤติการณ์ที่แสดงออกผ่านทางเฟซบุ๊ก เป็นการแสดงออกว่า เป็นผู้มีอาชีพขายซิมการ์ดโทรศัพท์แก่บุคคลทั่วไปจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ดังนั้น การที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงิน จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๑,๓๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจ จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร

 

กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อต้นกุหลาบ ๕ ต้น (รวมค่าจัดส่ง) ราคา ๒๙๐ บาท กับเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นผู้ขาย แบบเรียกเก็บเงินปลายทาง ผู้บริโภคได้รับสินค้าโดยบริษัทขนส่งรายหนึ่ง ผู้บริโภคจึงชำระเงินให้แก่พนักงานผู้ขนส่ง  หลังจากนั้นผู้บริโภคพบว่าสินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามโฆษณาเนื่องจากสินค้าเหี่ยวแห้งไม่มีใบ ทำให้ไม่สามารถปลูกได้ จึงมีความประสงค์ขอเงินทั้งหมดคืน พร้อมค่าเสียหาย จำนวน ๑,๐๐๐ บาท จึงขอความเป็นธรรม จากการพิจารณาพบว่า พฤติการณ์ที่ผู้ขายแสดงออกผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นการแสดงออกว่าเป็นผู้มีอาชีพขายต้นกุหลาบ แก่บุคคลทั่วไปจึงถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีติดต่อผู้ขายผ่านเฟซบุ๊กฯ เพื่อขอให้คืนเงินทั้งหมดแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม มติที่ประชุม  เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๒๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจ จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อชุดเดรสยาว ๒ ชุด  ราคา ๓๐๐ บาท กับผู้ขายรายหนึ่ง ผ่านเฟซบุ๊ก แบบเรียกเก็บเงินปลายทาง ต่อมาผู้บริโภคได้รับสินค้าดังกล่าวจากบริษัทขนส่ง จึงได้ชำระเงินให้แก่พนักงานของผู้ขนส่ง โดยโอนเงินเข้าบัญชี หลังจากนั้นพบว่าได้รับสินค้าเป็นเสื้อคอกระเช้าลายไทย ๒ ตัว ซึ่งไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ จึงมีความประสงค์ขอเงินทั้งหมดคืน จากการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ทั้งจงใจให้ได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอันเป็นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงเห็นควรเสนอเรื่องเพื่อให้ศาลสั่งให้จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจ จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคจำนวน ๒ ราย ได้ว่าจ้างผู้ประกอบธุรกิจรายที่ ๑ ผ่านเพจ ชุดครัวพลาสวูด ครัวทนน้ำ กันปลวก เพื่อตกแต่งบิวท์อินภายในบ้าน โดยชำระค่ามัดจำ ๒๐,๐๐๐ บาท เข้าบัญชีธนาคารผู้ประกอบธุรกิจรายที่ ๒ กำหนดเวลาติดตั้งเป็นที่แน่นอน แต่ผู้ถูกผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองไม่ดำเนินการติดตั้ง และได้ติดตามเรื่อยมา และตกลงเลิกสัญญากัน ต่อมาผู้ประกอบธุรกิจได้มีการคืนเงิน จำนวน ๓,๐๐๐ บาท และรับว่าจะคืนส่วนที่เหลือ แต่บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม  เห็นควรดำเนินคดีดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้ง ๒ ราย เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมคว

กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ Ford รุ่น Ranger All-New ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำนวน ๒ แห่ง ภายหลังใช้งาน เครื่องยนต์มีเสียงดัง จึงนำรถยนต์ตรวจสอบหลายครั้ง และได้มีการแก้ไขโดยการรีเซ็ทเครื่องใหม่ แต่เมื่อนำมาใช้งานยังมีความผิดปกติอยู่เหมือนเดิม เมื่อครบกำหนดถ่ายน้ำมันเครื่องรอบแรก พบว่าฝาหน้ารั่วซึม จึงแจ้งให้นำรถยนต์เข้าแก้ไขโดยการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เมื่อถึงกำหนดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรอบสอง พบว่าฝาหน้ารั่วอีกเช่นเดิม ผู้บริโภคประสงค์ให้บริษัทฯ เปลี่ยนรถคันใหม่ให้หรือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จากการพิจารณา บริษัทฯ ได้ทำการแก้ไขหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่า กรณีฝาหน้ารั่วซึมได้มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์แล้ว แต่ยังคงปัญหาเช่นเดิม บริเวณฝาหน้ามีน้ำมันเครื่องรั่วซึม อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ ทั้งสอง เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่างวดเช่าซื้อรถยนต์เป็นเงินจำนวน ๒๐๙,๙๐๒ บาท และเงินดาวน์ ๑๐๐,๙๗๖ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๓๑๐,๘๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคทำสัญญาซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง จำนวน ๔ เครื่อง จากร้านแห่งหนึ่ง ชำระเงินจำนวน ๑๑๕,๓๐๐ บาท ด้วยวิธีโอนเข้าบัญชีธนาคาร ภายหลังร้านดังกล่าวไม่ดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามเวลาที่ตกลงกัน จึงบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน แต่ถูกร้านผัดผ่อนเรื่อยมา เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งกับร้านดังกล่าว เพื่อบังคับให้คืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๑๑๕,๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคทำสัญญาจองรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ Honda รุ่น Civic ในราคา ๙๒๙,๐๐๐ บาท กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยชำระเงินจองจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ โดยกรรมการฯ ทั้งสองดำเนินการขออนุมัติสินเชื่อให้กับผู้บริโภค จำนวน ๓ ครั้ง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงขอเงินจองคืน แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงขอความเป็นธรรม จากการพิจารณา กรรมการฯ ทั้งสองได้รับหนังสือแต่ไม่มาพบและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ ดังนั้น การที่ทั้งสองไม่คืนเงินจองให้กับผู้บริโภค จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทดังกล่าว ในฐานะคู่สัญญา และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทในฐานะผู้รับเงิน เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคตกลงว่าจ้างทำระเบียงกระจกและกันสาดพร้อมติดตั้งจากร้านทำอลูมิเนียมแห่งหนี่ง  ในราคา ๒๗,๓๐๐ บาท โดยชำระเงินมัดจำ จำนวน ๒๓,๐๐๐ บาท เข้าบัญชีธนาคาร ต่อมาทางร้านได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งโครงเหล็ก และนำอุปกรณ์บางส่วนมาวางไว้ที่บ้านผู้บริโภค  แต่ไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จึงติดต่อไปยังร้านดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ กรณีดังกล่าว การไม่คืนเงินที่รับไว้ทั้งหมดให้กับผู้บริโภคจึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจึงขอความเป็นธรรม มติที่ประชุมเห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ร้านทำอลูมิเนียม เพื่อบังคับให้คืนเงินหรือชดใช้จำนวน ๒๓,๐๐๐ บาท และชำระค่ารื้อถอนโครงเหล็กที่ติดตั้งไปแล้วจำนวน ๕,๑๓๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน  ๒๘,๑๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคใช้บริการสั่งอาหารคลีนผ่านเพจเฟซบุ๊ก จำนวน ๒๔ วัน ๗๒ กล่อง ในราคา ๗,๙๐๐ บาท ชำระเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งได้มีการโฆษณาว่า สามารถเลือกเมนูอาหารได้มากกว่า ๖๐ เมนู ต่อมาผู้บริโภคได้ติดต่อไปยังเพจดังกล่าวเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเมนูอาหาร ได้รับแจ้งว่า เมนูอาหารมีเพียง ๒๐ เมนู เท่านั้น ผู้บริโภคเห็นว่าเมนูอาหารไม่เป็นไปตามที่เสนอขายและที่ตกลงกันไว้ จึงติดต่อไปยังผู้ถูกร้องเพื่อขอยกเลิกสัญญา จากกรณีดังกล่าว การที่ไม่คืนเงินที่รับไว้ทั้งหมดให้กับผู้บริโภค จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จำหน่ายอาหารคลีนผ่านเพจดังกล่าว เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๗,๙๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

กรณีผู้บริโภคซื้อรถยนต์ ยี่ห้อ MG รุ่น 5X ปี ๒๐๒๑ กับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๖๙๙,๐๐๐ บาท ชำระเงินมัดจำ ๓,๐๐๐ บาท เข้าบัญชีธนาคาร และตกลงซื้ออุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติม ราคา ๑๙,๘๘๕ บาท โดยชำระเงินมัดจำค่าอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ จำนวน ๕,๐๐๐ บาท  ต่อมาผู้บริโภคชำระเงินค่าอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ส่วนที่เหลือ จำนวน ๑๔,๘๘๕ บาท และได้ส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้บริโภคโดยมีการตรวจสอบรถยนต์ พบว่า มีการส่งมอบของแถมไม่ครบตามที่ตกลงไว้ และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ที่ผู้บริโภคได้ชำระเงินไปแล้วเป็นรายการของแถมที่ระบุไว้ในสัญญาจองรถยนต์อยู่แล้ว ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าว การที่บริษัทฯ และผู้รับโอนเงินปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาต่อผู้บริโภค จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท และผู้รับโอนเงินในฐานะส่วนตัว เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๓๔,๘๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย          

กรณีผู้บริโภคทำสัญญาการจ้างจัดดอกไม้ กับผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง เพื่อให้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์และตกแต่งสถานที่แต่งงาน ราคา ๗๕,๐๐๐ บาท ชำระมัดจำ ๔๒,๕๐๐ บาท เข้าบัญชีธนาคาร ภายหลังก่อนถึงวันจัดงานแต่งงาน ทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกสัญญากัน และผู้ประกอบธุรกิจรับว่าจะคืนเงินจำนวน ๔๒,๕๐๐ บาท มีกำหนดเวลาคืนเงินแน่นอน แต่ก็เพิกเฉยและผัดผ่อนเรื่อยมา เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าว เมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงิน การกระทำดังกล่าว จึงเป็นละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๔๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  และเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาให้ผู้ถูกร้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๒๐ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๑,๘๔๑,๙๖๕.๒๘ บาท (หนึ่งล้านแปดแสนสี่หมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบห้าบาทยี่สิบแปดสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร


( กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ )